ชายแดนใต้น่าห่วง! เมษาฯ 3 เทศกาล แต่ยอดวัคซีนสูงวัยต่ำ 50% สธ.วอนฉีดสู้โควิด
ข่าววันนี้ 1 เมษายน นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมป้องกันโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ว่า สำหรับเดือนเมษายนนี้ จะมี 3 เทศกาลสำคัญ คือ เทศกาลไหว้เชงเม้ง เทศกาลสงกรานต์ และ เทศกาลถือศีลอด (รอมฎอน) โดยพื้นที่ 3 จังหวัดทางภาคใต้ จะมีครบทั้ง 3 เทศกาล ที่สำคัญคือ เทศกาลถือศีลอดที่จัดตลอด 30 วัน ซึ่งมีกิจกรรมรวมกลุ่มคล้ายกับเทศกาลสงกรานต์ อาทิ การรับประทานอาหาร การละหมาด การรวมญาติ เป็นต้น
“กิจกรรมดังกล่าว ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ก็อนุญาตให้จัดได้ โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับกรรรมการอิสลามจังหวัด เป็นผู้ดูแลมาตรการ เช่น การละหมาดสามารถทำที่บ้านได้ แต่หากจะมีการละหมาดร่วมกันก็ควรรับวัคซีนแล้ว แยกใช้ภาชนะส่วนตัว” นพ.สุเทพ กล่าว
หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ.กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ยังถือว่าไม่สูงมากในทุกกลุ่มอายุ เฉลี่ยเข็มที่ 1 ภาพรวมฉีดยังไม่ถึงร้อยละ 70 ผู้สูงอายุฉีดเกือบร้อยละ 50 ส่วนเข็มที่ 3 ฉีดเพียงร้อยละ 10 ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็ก 5-17 ปี แจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 30 ของกลุ่มประชากร ซึ่งขณะนี้ฉีดได้ราวร้อยละ 60 ของที่แจ้งความประสงค์ไว้
“อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็มีคนติดเชื้อจำนวนหนึ่งที่มีภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติมากขึ้นแล้ว ดังนั้น ที่เราห่วงคือ ผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อ โดยร้อยละ 70-80 เป็นคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ฉะนั้น เมื่อถึงช่วงเทศกาล เราจึงมีความกังวลในกลุ่มนี้ ทั้งนี้ ทางจุฬาราชมนตรีก็ได้สื่อสารว่าการฉีดวัคซีนป้องกัน ไม่เป็นการขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม จึงขอให้ทุกคนเข้าไปรับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม” นพ.สุเทพ กล่าวและว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมเตียงรักษาผู้ป่วย ได้เพิ่มเตียงโรคทั่วไป ขณะที่ยา เวชภัณฑ์ สำรองไว้ในพื้นที่เพิ่มแล้ว
ทั้งนี้ นพ.สุเทพ กล่าวว่า อัตราเตียงสีแดงภาพรวมทั้งเขตสุขภาพที่ 12 ภาคใต้ รวม 430 กว่าเตียง ขณะนี้ครองเตียง 180 กว่าเตียง ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเชื้อเดลต้าระบาดที่เตรียมไว้ 500 เตียง ครั้งนั้นครองเตียงถึง 250 กว่าเตียง จึงถือว่าในช่วงเชื้อโอมิครอนระบาด มีการครองเตียงสีแดงน้อยกว่าเดิม
“ประเพณีต่างๆ สามารถทำได้ แต่ต้องปลอดภัย มีระยะห่าง คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก็ไม่ควรเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก สามารถทำที่บ้านได้ ส่วนคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ก็ใช้เวลากระชับที่สุด” นพ.สุเทพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานอัตราการฉีดวัคซีนในเขตสุขภาพที่ 12 ได้แก่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 22.00 น. แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 3.46 ล้านโดส คิดเป็น ร้อยละ 69.05 เข็มที่ 2 จำนวน 3.01 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 60.12 และเข็มที่ 3 จำนวน 805,130 โดส คิดเป็นร้อยละ 16.05 อย่างไรก็ตาม จำแนกตามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ร้อยละ 62.78 กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ร้อยละ 102.78 หญิงตั้งครรภ์ ร้อยละ 88.42 เด็กนักเรียน ร้อยละ 64.14