รีเซต

เปิด 5 แนวทาง “กำจัดน้ำปนเปื้อนรังสี” ในญี่ปุ่น

เปิด 5 แนวทาง “กำจัดน้ำปนเปื้อนรังสี” ในญี่ปุ่น
TNN World
17 เมษายน 2564 ( 11:02 )
485
เปิด 5 แนวทาง “กำจัดน้ำปนเปื้อนรังสี” ในญี่ปุ่น

Editor’s Pick: เปิด 5 แนวทาง “กำจัดน้ำปนเปื้อนรังสี” ในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเมินทางเลือกอื่น ในการกำจัดน้ำปนเปื้อนรังสีจากฟุกุชิมะ หรือไม่?

 

ดีที่สุด หรือ ถูกที่สุด


กรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศการตัดสินใจที่จะปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ว่าเป็น “ทางเลือกที่ดีที่สุด” ทำให้ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมตบเท้าแสดงความกังวลถึงการตัดสินใจของญี่ปุ่น และเกิดคำถามตามมามากมายว่า ญี่ปุ่น “เมิน” ทางเลือกอื่น ๆ เพื่อ “ประหยัดเงิน” และการจัดการได้อย่างรวดเร็วหรือไม่?
รัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่า การปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีนั้นเป็น “ทางที่ดีที่สุด” และน้ำที่จะปล่อยไปนั้น ได้รับการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และกรองเอารังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำออกมาแล้ว แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะยอมรับว่า “ทริเทียม” ซึ่งเป็นไอโซโทปหนึ่งของไฮโดรเจน จะไม่สามารถแยกออกมาได้อย่างง่ายดายก็ตาม แต่ก็ยืนยันว่ามันไม่ได้อันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ เพราะไม่ได้มีพลังพอที่จะทะลวงเข้าผิวหนังเราได้

 


แต่ผู้เชี่ยวชาญก็โต้แย้งคำกล่าวอ้างเรื่องการปรับปรุงคุณภาพน้ำว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างอิสระ เพื่อให้มั่นใจว่า ‘นิวไคลด์’ หรืออะตอมที่มีนิวเคลียสที่ไม่เสถียร อยู่ในระดับที่ตรวจวัดไม่เจอจริงหรือไม่

 


เปิด 5 แนวทางขจัดน้ำปนรังสี


ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่น ได้พิจารณาถึงแนวทางในการจัดการน้ำปนเปื้อนปริมาตรทั้งหมด 1.25 ล้านตัน 5 แนวทางด้วยกัน ประกอบด้วย
- ปล่อยลงสู่ทะเล
- ทำให้กลายเป็นไอ
- ฉีดลงไปในชั้นหินใต้ผิวโลก
- ทิ้งลงในบ่อคอนกรีต แล้วปิดตาย
- แยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ แล้วนำไปปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ

 


วิธีอื่นใช้เวลา-เงินมหาศาล จึงเลือกหนทางที่ถูกที่สุด?


การประชุมร่วมกันของกระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า..
วิธี “การฝังลงใต้ดิน” และ “การฉีดลงไปใชั้นหิน” นั้น จำเป็นต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางกฎหมาย ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน .. อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่อง “การหาสถานที่ฝัง-ฉีดลงไปด้วย


ส่วนวิธีการ “แยกไฮโดรเจน” ทางเทคนิคค่อนข้างเป็นไปได้ แต่จำเป็นต้องมีการลงทุนมหาศาลในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ และอาจต้องใช้เวลา


และวิธี “การทำให้เป็นไอ” ไม่ได้รับคำแนะนำ เนื่องจากยากที่จะจับตาและควบคุม “สสาร” ที่จะตกลงมา หลังจากที่กลายเป็นไอแล้ว
ดังนั้น “การปล่อยน้ำลงสู่ทะเล” โดยมีความเข้มข้นของรังสีต่ำ จึงเป็นสิ่งที่นานาประเทศรับรอง ในการจัดการกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่แล้วและมองว่านี่คือทางที่ดีที่สุดสำหรับกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

 

 

“โกรธมาก”​.. ทำไมรัฐบาลไม่คำนึงถึงประชาชน!


ฮิเดยูกิ บัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลนิวเคลียร์ในกรุงโตเกียว บอกว่า เขาโกรธมากต่อการตัดสินใจ และกล่าวโทษว่ารัฐบาลนั้น “เพิกเฉยต่อประชาชนท้องถิ่น”


อัซบี้ บราวน์​ หัวหน้าทีมวิจัยองค์กรจับตานิวเคลียร์ Saftcast Japan บอกว่า การสร้างถังเก็บน้ำใหม่ ๆ รอบโรงไฟฟ้าเพื่อเก็บน้ำเสียนั้น ยังเป็นทางเลือกที่ดี จนกว่าจะมีโซลูชั่นใหม่ ๆ และไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องน่ากังวลที่จะต้องมีถังเก็บมากกว่านี้


อีกทั้ง ค่าครึ่งชีวิตอง “ทริเทรียม” คือ 12 ปี ดังนั้น การรอไปอีกก็ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า


รัฐบาลมองว่า การสร้างถังเก็บใหม่ ๆ เพิ่มด้านนอกโรงงานก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ 
บราวน์ มองว่า เรื่องนี้มันไม่ใช่ข้ออ้างที่ดี เพราะตั้งแต่ที่มีวิกฤตโรงไฟฟ้า และการปนเปื้อนเมื่อ 10 ปีก่อน คนได้อพยพออกไปนอกพื้นที่กันหมดแล้ว

 


เหตุใดจึงไม่แก้ที่ต้นตอ?​


ชอน เบอร์นี่ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านนิวเคลียร์ของกรีนพีซ บอกว่า สิ่งที่จำเป็นที่สุดในเวลานี้ที่ต้องเร่งตัดสินใจคือ การที่รัฐบาลกำหนดเวลา 40 ปี ให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้กลายเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว หรือ ปลอดสารพิษ 
แต่ปัญหาหลักของการปนเปื้อนคือ “ซากเชื้อเพลิงที่หลอมละลาย” ซึ่งยังไม่ได้รับการจัดการ และจนกว่ามันจะถูกจัดการ ปัญหา “น้ำปนรังสี” จะไม่มีวันหมดไป


จากข้อเสนอของกรีนพีซ คือ ต้องเปลี่ยนจากการใช้ “น้ำหล่อเย็น” แท่งเชื้อเพลิงและเตาปฏิกรณ์ที่หลอมละลาย ให้เป็นใช้ “อากาศหล่อเย็น” แทน .. และขุด “คูน้ำ” รอบโรงไฟฟ้าที่มีความลึก 20 เมตร เพื่อให้พื้นที่นั้นกลายเป็น “เกาะแห้ง” และจะสามารถป้องกันน้ำบาดาลซึมเข้ามายังบริเวณที่เตาปฏิกรณ์ตั้งอยู่ได้


เพราะเมื่อมัวแต่แก้ปัญหาน้ำเปื้อนรังสี แต่ไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ ปัญหาก็จะไม่มีวันจบ!

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง