รีเซต

ชาวบ้านค้าน ใช้หอพักนักศึกษาภายในโรงเรียนกีฬาตรัง กักตัวคนเดินทางมาจากต่างประเทศ

ชาวบ้านค้าน ใช้หอพักนักศึกษาภายในโรงเรียนกีฬาตรัง กักตัวคนเดินทางมาจากต่างประเทศ
มติชน
9 เมษายน 2563 ( 09:14 )
225
ชาวบ้านค้าน ใช้หอพักนักศึกษาภายในโรงเรียนกีฬาตรัง กักตัวคนเดินทางมาจากต่างประเทศ

บุคลากรและชาวบ้านโรงเรียนกีฬาตรังออกโรต้าน ใช้หอพักนักศึกษาภายในโรงเรียนเป็นพื้นที่กักกันตัวคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือต่างจังหวัดที่เข้ามาในพื้นที่ ในช่วงการยกระดับควบคุมเชื้อไวรัสโควิด-19

 

วันที่ 9 เมษายน 2563 ที่โรงเรียนกีฬาจังหวัดตรัง ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ซึ่งเป็นสถานที่ที่อำเภอย่านตาขาวเตรียมใช้เป็นสถานที่กลางในการกักกันตัวนักท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รวมทั้งประเทศมาเลเซีย หรือจังหวัดในพื้นที่เสี่ยง เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภูเก็ต กระบี่ พื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ พัทลุง สงขลา รวมทั้งล่าสุด จ.สตูล โดยหากมีบุคคลใดเข้ามาในพื้นที่ อ.ย่านตาขาว จะต้องถูกกักกันตัวทั้งหมด ณ โรงเรียนกีฬา ซึ่งเป็นสถานที่กลางในกักกันตัว

 

ทำให้มีข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งมีบ้านพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ ใกล้กันรวมประมาณ 40 ครอบครัว รวมทั้งชาวบ้านบางรายที่ทราบข่าว รู้สึกไม่สบายใจ หวั่นจะไม่ปลอดจากเชื้อ จึงออกมาต่อต้านไม่ให้มีการใช้หอพักนักศึกษาเป็นสถานที่กักกัน ทั้งนี้ ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอย่านตาขาว รวมทั้งเจ้าที่สาธารณสุขเข้าชี้แจง

 

ล่าสุด นายสาธิต ไกรนรา นายอำเภอย่านตาขาว รวมทั้งผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้อำนวยการโรงเรียนกีฬา ไปประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดให้ได้รับทราบที่ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอย่านตาขาว โดยมีนายสาธิต  ชี้แจงทำความเข้าใจในรายละเอียดของการใช้สถานที่ว่า โดยตอนต้นเรียกผู้นำ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารเทศบาลตำบลทุ่งกระบือ เช้าชี้แจง และเรียกตัวแทนชาวบ้านเข้าชี้ ทั้งนี้ ได้ชี้แจงว่าคนที่จะเข้าไปกักกันตัวเป็นเวลา 14 วัน คือ เป็นบุคคลที่เดินทางจะเข้าพักอาศัยในพื้นที่ อ.ย่านตาขาว แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสที่รุนแรงขึ้น ทำให้ทุกคนที่เข้ามาจะต้องถูกกักกันตัวเป็นเวลา 14 วัน ณ สถานที่กักกันกลางที่อำเภอกำหนดขึ้น ( อ.ย่านตาขาว เลือก ร.ร.กีฬา) ตามมาตรฐานสาธารณสุข เพื่อเฝ้าระวังตัวเอง หรือบางคนที่อาจไม่ใช่บุคคลเสี่ยงก็อาจจะให้ไปกักกันตัวที่บ้าน

 

ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อแต่อย่างใด โดยจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจสุขภาพร่างกายทุกวัน แต่หากพบใครมีอาการไข้ระหว่างกักกันตัวเอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะส่งรถไปรับตัวไปตรวจเช็คร่างกาย หากติดเชื้อก็เข้าระบบการรักษา ซึ่งระหว่างที่กักกันตัวจะไม่มีบุคคลภายนอกเข้าไปได้ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น ในที่สุดสามารถตกลงกันได้ โดยบุคลากรของโรงเรียน รวมทั้งชาวบ้านจะใช้ประตู 2 ซึ่งเป็นประตูออกมัสยิดกลางเป็นเส้นทางเข้าออก โดยไม่ใช้ประตูเข้าออกร่วมกัน แต่จะให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง และผู้กักกันตัวเองใช้ประตู 1 ซึ่งเป็นประตูด้านหน้าแทน นอกจากนั้นนายอำเภอย่านตาขาวยังได้มอบหมายให้ผู้นำชุมชน เร่งลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง