“เผ่าภูมิ”ชี้ธปท.แทรกแซงค่าเงินแก้ปัญหาปลายเหตุ ชี้ต้นตอจากดอกเบี้ยนโยบายสูง
“เผ่าภูมิ”ชี้ธปท.แทรกแซงค่าเงินแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ขณะที่ ต้นตอจากดอกเบี้ยนโยบายสูง ทำให้เม็ดเงินไหลเข้า แนะนโยบายการเงินควรหันมาดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจด้วย
#ทันหุ้น นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทว่า การแก้ไขเรื่องของค่าเงินบาทที่ผันผวนด้วยการแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างเดียว มองว่า ยังไม่เพียงพอ เนื่องจาก เงินบาทที่แข็งค่ามีต้นตอมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายการเงินของประเทศมหาอำนาจ จึงทำให้มีเม็ดเงินจากเงินต่างชาติจากไหลเข้ามาในประเทศ
“มองว่าการแทรกแซงค่าเงินบาท เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ เพราะต้นตอเป็นต้นตอระยะยาว เนื่องจากส่วนต่างนโยบายทางการเงินมีความแตกต่างกัน ส่วนตัวมองว่า ธปท. ต้องแก้ไขทั้ง 2 อย่าง คือ การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และดูแลค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้ผันผวนในระยะสั้น”
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน ต้องดูประเทศคู่ค้า และประเทศเพื่อนบ้าน โดยปัจจุบันจะเห็นว่าค่าเงินบาทไทย แข็งค่าเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่แข็งมาก หากเปรียบเทียบระยะเวลานี้ให้เหมาะสมกับประเทศเพื่อนบ้าน มองว่าช่วงนี้ค่าเงินบาทไทยควรอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนกรณีที่ธปท. ประเมินว่าการส่งออกมีทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทนั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า จะต้องพยายามรักษาอัตราค่าเงินให้เกาะกลุ่มให้ได้ มิใช่ว่าในวันหนึ่งค่าเงินบาทไทยแข็งค่าเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค การค้าขายก็จะมีปัญหา มองว่าไม่ควรหยิบประเด็นเล็กๆ มาคุย ต้องดูภาพรวมว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ เพราะหากค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้าอื่น สินค้าของเราจะมีความสามารถในการแข่งขันต่ำลง
ขณะที่ในเรื่องความต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและสินเชื่อนั้น ก็เป็นเรื่องที่ธปท.จะต้องแก้ไข เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนของประชาชน และเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับธนาคาร โดยที่เข้มแข็งอยู่แล้วก็ควรจะมองมิติการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปล่อยสินเชื่อให้เม็ดเงินในอัตราดอกเบี้ยที่สามารถทำธุรกิจได้ มองว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
ส่วนบทบาทที่กระทรวงการคลังทำได้ในเรื่องดังกล่าว คือ การหารือร่วมกับธปท. ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และเราดูในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งหากเราทำให้แบงก์รัฐช่วยเหลือจุลเจือประชาชนได้มากกว่า ก็จะเป็นจุดกระตุ้นให้ตลาดมีการปรับตัวมากขึ้น หากถามว่าทำได้เต็มไม้เต็มมือหรือไม่ ต้องขอความร่วมมือได้ที่ธปท.
“จะต้องชั่ง 2 มิติ เสมอ คือ ศักยภาพของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของเศรษฐกิจ หากถามว่าตอนนี้ประเทศมีเสถียรภาพทางการเงินหรือไม่ ก็สูงมาก ส่วนประเทศมีศักยภาพทางเศรษฐกิจหรือไม่ ก็ยังไม่เท่าไหร่ ฉะนั้น ต้องมีการจุลเจือให้เกิดความสมดุล”