รีเซต

นักวิจัยญี่ปุ่นค้นพบเทคนิคใหม่ ส่งสเปิร์มแห้งของหนูบ้านไปกับซองจดหมายหรือโปสการ์ดได้

นักวิจัยญี่ปุ่นค้นพบเทคนิคใหม่ ส่งสเปิร์มแห้งของหนูบ้านไปกับซองจดหมายหรือโปสการ์ดได้
ข่าวสด
8 สิงหาคม 2564 ( 02:22 )
65
นักวิจัยญี่ปุ่นค้นพบเทคนิคใหม่ ส่งสเปิร์มแห้งของหนูบ้านไปกับซองจดหมายหรือโปสการ์ดได้

 

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยยามานาชิของญี่ปุ่น ค้นพบวิธีใหม่ที่ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อย ในการส่งสเปิร์มของหนูทดลองไปยังเมืองอื่นที่ห่างไกล โดยนำสเปิร์มที่ผ่านการแช่แข็งแห้ง (freeze-drying) มาใส่ในซองจดหมาย หรือแปะติดลงบนโปสการ์ดธรรมดา แล้วส่งไปทางไปรษณีย์แบบที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันมานาน

 

 

ก่อนหน้านี้การส่งตัวอย่างของสเปิร์มหนูทดลองระหว่างทีมนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ต่างเมืองหรือต่างประเทศกัน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและมีขั้นตอนเตรียมการที่ยุ่งยาก โดยมักจะนำตัวอย่างสเปิร์มใส่ขวดแก้วบรรจุในถังไนโตรเจนเหลวหรือตู้แช่แข็งเพื่อรักษาอุณหภูมิให้ต่ำอยู่ตลอดเวลา

 

 

หากเกิดอุบัติเหตุหรือหายนะภัยที่ไม่คาดคิด เช่นเหตุแผ่นดินไหวทำให้ขวดแก้วบรรจุสเปิร์มแตกหรือไฟฟ้าดับจนทำให้สเปิร์มในตู้แช่แข็งละลาย ก็จะต้องสูญเสียตัวอย่างสเปิร์มอันมีค่าและสิ้นเงินค่าจัดส่งไปโดยเปล่าประโยชน์

 

 

ทีมวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์อิโตะ ไดยู จึงได้ทดลองนำสเปิร์มของหนูหริ่งบ้าน (Mus musculus) มาผ่านกรรมวิธีแช่แข็งแห้งบนกระดาษชั่งสาร (weighing paper) ที่ใช้ชั่งน้ำหนักวัสดุในห้องทดลองทั่วไป แล้วใช้แผ่นพลาสติก 2 แผ่น ประกบสเปิร์มแห้งบนกระดาษไว้อีกทีเพื่อความปลอดภัย

 

UNIVERSITY OF YAMANASHI
หนูทดลองตัวนี้เกิดจากสเปิร์มแช่แข็งแห้งที่ถูกส่งมาทางไปรษณีย์ธรรมดา

 

 

สเปิร์มแห้งที่ได้สามารถจะนำไปเก็บรักษาไว้ในสมุดเพียงเล่มเดียว ซึ่งทีมวิจัยเรียกสมุดนี้ว่า "สมุดสเปิร์ม" ทั้งยังสามารถจัดส่งไปต่างเมืองหรือต่างประเทศ โดยแปะติดตัวอย่างสเปิร์มแห้งลงบนไปรษณียบัตร หรือใส่ในซองจดหมายธรรมดาเพื่อส่งทางไปรษณีย์แบบดั้งเดิมได้ในราคาถูก

 

 

มีการทดลองส่งตัวอย่างสเปิร์มที่ผ่านการแช่แข็งแห้งทางไปรษณีย์ จากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยโตเกียวไปยังมหาวิทยาลัยยามานาชิ ซึ่งตั้งอยู่ห่างกัน 200 กิโลเมตร และใช้เวลา 2 วันในการจัดส่ง ผลปรากฏว่าตัวอย่างสเปิร์มนั้นไม่ได้รับความเสียหาย และเมื่อนำไปผสมกับไข่ที่ปลายทางก็สามารถให้กำเนิดลูกหนูที่แข็งแรงได้อีกด้วย

 

 


ก่อนหน้านี้นักวิจัยทีมเดียวกันเคยประสบความสำเร็จ ในการให้กำเนิดลูกหนูจากสเปิร์มที่แช่แข็งในห้วงอวกาศมาแล้ว

 

 

อย่างไรก็ตาม ศ.อิโตะกล่าวเตือนว่า ความสะดวกง่ายดายของเทคนิคนี้อาจเป็นดาบสองคม เพราะเป็นไปได้ว่าจะมีผู้นำไปใช้จัดส่งวัสดุทางพันธุกรรมอย่างผิดกฎหมาย จึงควรจะต้องมีการออกกฎเกณฑ์ใหม่มาควบคุมการจัดส่งสเปิร์มหรือดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทางไปรษณีย์ด้วย และต้องระงับการนำวิธีนี้มาใช้กับสเปิร์มมนุษย์ไว้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการรักษาผู้มีบุตรยาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง