รีเซต

สธ.เผย 5 สิ่งต้องทำหลังผ่อนปรนมาตรการ ย้ำต้องคงมาตรการ "เวิร์กฟรอมโฮม"

สธ.เผย 5 สิ่งต้องทำหลังผ่อนปรนมาตรการ ย้ำต้องคงมาตรการ "เวิร์กฟรอมโฮม"
มติชน
28 เมษายน 2563 ( 17:23 )
137
สธ.เผย 5 สิ่งต้องทำหลังผ่อนปรนมาตรการ ย้ำต้องคงมาตรการ "เวิร์กฟรอมโฮม"

สธ.เผย 5 สิ่งต้องทำ หลังผ่อนปรนมาตรการ ย้ำต้องคงมาตรการ “เวิร์กฟรอมโฮม” ไม่ปิดศูนย์ภาวะฉุกเฉินโควิด-19

โควิด-19 เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการผ่อนปรนมาตรการในข่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ว่า มาตรการต่างๆ ควรแบ่งตามระดับความเสี่ยง เช่น สถานที่พื้นที่มีความเสี่ยงสูง ก็ต้องใช้มาตรการปฏิบัติป้องกันที่สูง โดย สธ.มีข้อเสนอปรับลดความเข้มข้นมาตรการบางอย่าง และโดยข้อเท็จจริงคือ ในระยะที่ยังมีการการแพร่ระบาดอยู่ มีความเป็นไปได้ที่กลับไปแพร่ระบาดต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นได้อีกครั้ง โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่เคยอยู่ในข่วงระบาดเข้าขั้นระยะวิกฤต คือ ระยะที่มีผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่าศักยภาพการรองรับของโรงพยาบาล (รพ.) แต่ด้วยการทำงานร่วมกันของ รพ.ทุกภาคส่วน จึงทำให้มีจำนวนเตียงอย่างเพียงพอในการดูแลผู้ป่วย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การพิจารณาผ่อนปรนมาตรการจะวิเคราะห์ พิจารณาเป็นรายพื้นที่ในรายจังหวัด ไม่เหมารวมทั้งประเทศ และประเทศไทยยังคงต้องอยู่ในสถานการณ์นี้อีกระยะหนึ่ง

“หากถามว่านานเพียงใด ก็คงมีคำตอบว่า จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค เรื่องนี้จะจบแบบสวยๆได้คือ การจัดหาวัคซีนมาได้ก่อนที่คนไทยส่วนใหญ่จะติดเชื้อ โดยพื้นฐานของโรคระบาดจะสามารถหยุดการระบาดได้ 2 แบบ คือ 1.มีคนได้รับวัคซีนมากเพียงพอ 2.มีคนติดเชื้อมากพอ แต่ด้วยศักยภาพทาง รพ. ของประเทศไทยอยู่ในระดับหนึ่ง สามารถรองรับการแพร่ระบาดของโรคได้ ไม่ปล่อยให้โรคแพร่ระบาดได้อย่างอิสระ ดังนั้น ภาครัฐจะต้องมีมาตรการออกมาให้ประชาชน และต้องขอความร่วมมือกับภาคประชาชนด้วยเช่นกัน”รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยการแพร่ระบาดในวงจำกัด สิ่งที่ต้องทำในระยะต่อไป คือ

ด้านที่ 1 มาตรการด้านสาธารณสุข 1.ดำเนินการเฝ้าระวังโรคเข้มข้น ได้แก่ ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case finding) เช่น ค้นหาในแต่ละจังหวัด ชุมชน ไม่ใช่การสุ่มตรวจแบบไม่มีเป้าหมาย แต่ต้องใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ในการพิจารณาว่าที่ผ่านมามีพื้นที่ใดที่เคยเจอผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก จึงลงพื้นที่เข้าตรวจ ขยายการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่น้อยให้มากขึ้น และจะต้องจัดลำดับความสำคัญว่าควรจะตรวจในผู้ป่วยกลุ่มใดก่อนหลัง เฝ้าระวังจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบและจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังกลุ่มอาการ เช่น ระบบทางเดินหายใจ โดยเน้นในกลุ่ม บุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก

2.การสอบสวนโรค เพื่อค้นหา/ติดตามผู้สัมผัส และนำตัวเข้าพักในสถานกักกันเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ เป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคที่มีประสิทธิภาพสูงมาก 3.การจัดการกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสเสียชีวิตสูง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่เป็นการอยู่ร่วมบ้านกับวัยอื่น จึงต้องใช้มาตรการและข้อความร่วมมือกับประชาชนจัดการกับส่วนนี้ให้ดีที่สุด

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า 4.การเตรียมความพร้อมและจัดการระบบดูแลผู้ป่วย โดยประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มอายุสูงสุดคือ 20-50 ปี 5.การจัดการทางการสุขภาพจิต ทั้งในเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ทาง สธ.พร้อมเข้าไปดูแลทางสุขภาพจิตให้กับคนกลุ่มนี้ 6.ป้องกันการติดเชื้อใน รพ.โดยจะต้องป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์

ด้านที่ 2 การเตรียมความพร้อมระบบการจัดการภาวะฉุกเฉิน แม้ว่าผู้ป่วยจะลดลงแต่ไม่ได้หมายความว่าจะปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินได้ และยังมีความจำเป็นต้องเปิดต่อไป และกลุ่มทำงานบางกลุ่ม เช่น ทีมตระหนักรู้สถานการณ์สถานการณ์ ทีมสอบสวนโรค ทีมปฏิบัติการ เพราะยังคงจะต้องพบผู้ป่วยสงสัยอยู่ต่อเนื่อง ห้องปฏิบัติการแพทย์และสาธารณสุขก็ยังต้องดำเนินต่อไป ระบบนี้อาจจะมีผู้มาปฏิบัติงานน้อยลงแต่ไม่มีการปิด และเมื่อมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็จะต้องมีความจำเป็นต้องระดมกำลัง โดยประสานงานกับภาคส่วนอื่นระดับจังหวัดเพื่อตอบโต้ภาวะฉุกเฉินร่วมกัน

ด้านที่ 3 มาตรการเสริมความรู้ด้านการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 จะต้องเพิ่มความรู้ในการใช้ชีวิต เช่น การใช้ชีวิตในที่ทำงานให้ปลอดภัย การเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ การป้องกันตัวเองในการไปห้างสรรพสินค้า รวมถึงการใช้ชีวิตร่วมกับผู้สูงอายุในบ้านอย่างไรให้ปลอดภัย

ด้านที่ 4 การส่งเสริมอนามัยส่วนบุคคล การสวมใส่หน้ากากอนามัยผ้า การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รับประทานอาหาร มารยาทบนโต๊ะอาหารก็จะมีความเปลี่ยนแปลงไป

ด้านที่ 5 มาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล เพื่อลดความแออัดในพื้นที่สาธารณะ มาตรการทำงานที่บ้าน(Work from home) โดยเป้าหมายคือภาครัฐบาล ควรทำให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 และภาคเอกชนเองก็ควรรักษามาตรการนี้ไว้เช่นกัน การทำธุรกรรมออนไลน์ การเหลื่อมเวลาทำงานที่มีเป้าหมายเพื่อให้ลดการแออัดของรถขนส่งสาธารณะ การเรียนออนไลน์ ปรับปรุงสถานประกอบการร้านค้า และกิจการต่างๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง