รีเซต

แพทย์คลายข้อสงสัยไม่ค้นหา "โควิด-19" เชิงรุกในทุกพื้นที่ ชี้เป็นภารกิจต่อเนื่อง

แพทย์คลายข้อสงสัยไม่ค้นหา "โควิด-19" เชิงรุกในทุกพื้นที่ ชี้เป็นภารกิจต่อเนื่อง
มติชน
26 เมษายน 2563 ( 18:18 )
234
3
แพทย์คลายข้อสงสัยไม่ค้นหา "โควิด-19" เชิงรุกในทุกพื้นที่ ชี้เป็นภารกิจต่อเนื่อง

แพทย์คลายข้อสงสัยไม่ค้นหา “โควิด-19” เชิงรุกในทุกพื้นที่ ชี้เป็นภารกิจต่อเนื่อง

โควิด-19 เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวถึงกรณีที่สถานพยาบาลรับเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพื่อคัดกรองค้นหาผู้ป่วยในเชิงรุก ว่า เป้าหมายการตรวจคือการคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ เพื่อนำเข้าสู่การรักษาพยาบาล รวมถึงจะต้องมีการติดตามผู้สัมผัสกับผู้ป่วยด้วย ดังนั้น สถานพยาบาลที่ต้องการดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (active case finding) จะต้องติดต่อกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ด้วย เนื่องจากการทำงานไม่ได้สิ้นสุดแค่การตรวจหาผู้ป่วยเท่านั้น เพราะว่า การค้นหาผู้ป่วยที่ยืนยันติดเชื้อแล้วจะต้องมีการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ติดเชื้อรายนั้นต่อไป ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยและนำไปสู่เป้าหมายของการกำจัดเชื้อให้หมดไปในพื้นที่

“หัวใจสำคัญอยู่ที่การประสานงานการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานสาธารณสุข หากสถานที่ที่จะลงไปตรวจเป็นกรุงเทพมหานคร ก็จะต้องประสานกับศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสุขภาพ เพื่อให้การดูแลประชาชนต่อในระหว่างกลุ่มที่ติดเชื้อและกลุ่มผู้สัมผัส ดังนั้น กระบวนการทำงานจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ” นพ.โสภณ กล่าว

ส่วนกรณีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดไว้ว่าหากมีการพบผู้ป่วยจะต้องรายงานกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคทันที ถ้าหากไม่รายงานจะส่งผลอย่างไรบ้าง นพ.โสภณ กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ จัดให้โรคโรควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ดังนั้น ผู้ที่พบผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) จะต้องรายงานให้กับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ภายใน 3 ชั่วโมง ในกรณีนี้หากมีการประสานงานใกล้ชิดเมื่อผลทางห้องแล็บออกมาก็จะสามารถรายงานได้ทันที

ผู้สื่อข่าวถามว่า การค้นหาเชิงรุกในความหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า คำว่า contact testing เป็นการติดตามผู้สัมผัสภายหลังจากการพบผู้ป่วยยืนยัน ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะมีการสอบสวนโรคเพื่อค้นหาผู้สัมผัสกับผู้ป่วยในช่วงที่เริ่มมีอาการ เนื่องจากมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ เช่น เพื่อนร่วมงาน สมาชิกในครอบครัว ผู้ที่ร่วมเดินทางอยู่ในเที่ยวบินเดียวกัน ซึ่งผู้สัมภาษณ์จะจัดออกเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (close contact ) และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ตามหลักการจะต้องติดตามผู้เสี่ยงสูง เป็นระยะเวลา 14 วัน และจะต้องทำการตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ และจะมีอีกหนึ่งกรณี ที่จะต้องทำการค้นหาเชิงรุก (active case finding) คือไม่สามารถหาผู้สัมผัสได้เนื่องจากเป็นสถานที่เปิด เช่น สถานที่ที่มีคนจำนวนมากไม่สามารถระบุผู้สัมผัสที่อยู่ใกล้ชิดหรือว่าผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ เช่น การไปตลาด ซึ่งไม่สามารถระบุผู้ที่อยู่ในพื้นที่ได้ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ไม่ได้รู้จักกัน

นพ.โสภณ กล่าวว่า แต่หากภายหลังพบว่ามีผู้ป่วยเกิดขึ้นในพื้นที่แล้ว ก็จะต้องทำการค้นหาผู้สัมผัส ซึ่งเป็นที่มาของการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก คือการลงไปประกาศให้ผู้ที่มีอาการป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าตนเองจะเป็นผู้สัมผัส ใกล้ชิด

“contact testing เป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมโรค ซึ่ง สธ.ได้ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม ที่พบผู้ป่วยรายแรก มา จนถึงปัจจุบัน ที่ดำเนินการอยู่ ส่วน Active case finding ไม่สามารถระบุผู้สัมผัสใกล้ชิดได้เนื่องจากมีคนจำนวนมาก ซึ่งในหลายครั้ง เราเจอพบผู้ป่วยก่อนหน้ารายที่เราเจอตัว เช่น ลงพื้นที่ไปดูแล้วพบว่ามีคนป่วยที่เพิ่งหายป่วยไป 2-3 รายก่อนหน้านั้น เพราะว่าผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลไม่ใช่ผู้ป่วยรายแรก จริงๆ ดังนั้นการค้นหาเชิงรุกจึงมีประโยชน์ในการหาผู้ป่วยให้ครบ ในการตรวจผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ หากพบว่ามีผู้ป่วยก็จะต้องเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล หรือถ้าหากไม่มีอาการก็จะต้องกักกันให้ครบ 14 วัน ทั้งหมดจะเป็นการทำให้เราเคลียร์พื้นที่ให้ปลอดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นพ.โสภณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.โสภณ กล่าวว่า การลงไปตรวจโดยไม่มีเป้าหมายอะไรเลย อย่างนั้นไม่เรียกว่า Active case finding เพราะว่าการทำค้นหาเชิงรุกจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสพบผู้ป่วย เช่น ในพื้นที่ที่มีการรายงานผู้ป่วยมาก่อนหน้านี้ หรือพื้นที่ที่สงสัยว่าจะมีการแพร่เชื้อ และจะต้องทำอย่างเหมาะสม ซึ่งในการทำอย่างเหมาะสมก็ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ไม่กี่รายอย่างเช่น น้อยกว่าร้อยละ 1 เป็นต้น ดังนั้นจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหวังว่าจะเจอผู้ติดเชื้อ เจอผู้สัมผัส และเป็นการควบคุมโรคด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง