คนไทยต่างแดนกว่า 1.6 ล้านคน ปรึกษาแพทย์ออนไลน์
คนไทยต่างแดนกว่า 1.6 ล้านคน ปรึกษาแพทย์ออนไลน์
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศก์ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แถลงความคืบหน้าการดูแลคนไทยในต่างประเทศช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สธ.ได้ให้การดูแลคนไทยตกค้างในต่างประเทศรวมถึงผู้ป่วยมีอาการป่วย โดยคนไทยที่ต้องการกลับประเทศอย่างน้อยจะต้องมีเอกสาร 1.ฟิต ทู ฟลาย (Fit to fly) ที่จะต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 2.เอกสารรับรองจากสถานทูตจากประเทศต้นทาง มาตรการของกรมการแพทย์จะมีการจัดทีมแพทย์เชี่ยวชาญ 1.ผู้เชี่ยวชาญดูแลด้านการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 2.ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ 3.ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด โดยเริ่มต้นมี 10 ทีมในการดูแลคนไทยและคนไทยที่ป่วยในต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ แต่ในประเทศเกาหลีใต้ ที่มีแรงงานผิดกฎหมายของไทยอยู่จำนวนมาก โดยกลุ่มไลน์จะต้องเพิ่มผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ
“บางรายตกงาน ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต บางรายอยากกลับบ้านแต่เอกสารไม่ครบ บางรายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และเที่ยวบินอาจจะไม่เพียงพอ การดูแลจากสถานทูตแต่ละประเทศจะสร้างกลุ่มแชทไลน์ เชิญหมอของเราเข้าไปเพื่อให้คำแนะนำ โดยตัวอย่างจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พบคนไทยติดเชื้อจำนวน 58 ราย ปัจจุบันรักษาจนเป็นปกติ บางส่วนเดินทางกลับไทยแล้ว” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายเชิดเกียรติ กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุด คนไทยในต่างประเทศมีจำนวนประมาณ 1.6 ล้านคน โดยได้รับการดูแลผ่านระบบออนไลน์ การแจกถุงยังชีพและการเยี่ยมเยือน รวมถึงประสานกับหน่วยงานเจ้าบ้านในการดูแลคนไทยในต่างแดนทั้งที่ป่วยและไม่ป่วย และได้ประสานกับ สธ.เพื่อให้คนปรึกษาด้วนสุขภาพผ่านระบบออนไลน์ โดยตั้งแต่เดือนเมษายน-สิงหาคม กต.นำคนไทยจาก 90 ประเทศทั่วโลก เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ประมาณ 69,764 คน
นายเชิดเกียรติ กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ ว่า สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่และทีมงานประเทศไทย ดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น การติดตามข่าวสารผ่านเครือข่ายคนไทยผ่านช่องทางต่างๆ จัดส่งอาหาร เวชภัณฑ์ทางการแพทย์และของจำเป็น ไปให้คนไทยในพื้นที่ขาดแคลน ประสานกับแพทย์ประเทศไทยในการให้คำปรึกษาทางสุขภาพกายและจิตใจ กรณีคนไทยที่ป่วยโควิด-19 ในต่างประเทศจะได้รับการดูแลด้านการรักษาอย่างใกล้ชิด
“ภารกิจนำคนไทยกลับประเทศ มีคนไทยหลายประเทศยื่นความประสงค์ในการเดินทางกลับผ่านสถานกงสุลใหญ่ โดยจะจัดลำดับความสำคัญ เริ่มจากกลุ่มที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย เยาวชน และจะมีการคัดกรองด้านสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ โดยกำหนดโควต้าจากเดิมวันละ 200 คน เพิ่มเป็น 600 คน แต่ทั้งนี้ การกำหนดโควต้าเป็นไปตามศักยภาพการรองรับในประเทศ โดยเฉพาะสถานกักกันโรคฯ” นายเชิดเกียรติ กล่าว
กรณีแรงงานไทยในประเทศอุซเบกิสถาน ที่ร้องขอให้มีการนำคนไทยกลับประเทศ นายเชิดเกียรติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม มีคนไทยจากประเทศอุซเบกิสถาน เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว 102 คน ทั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันของกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดหาตั๋วเดินทางในราคาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดด้านบุคลากรที่มีเพียง 1,584 คน ที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งในขณะนี้มีข้าราชการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย 1 ราย เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น 1 ราย และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ประเทศบาเรห์ ติดเชื้อโควิด-19 และอยู่ในระหว่างการรักษา และมีแพทย์จากกรมการแพทย์ ให้คำแนะนำผ่านระบบออนไลน์ อย่างใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีคู่สมรส บิดามารดาและบุตรของผู้มีสัญชาติไทยและต้องการเดินทางมาประเทศไทย จะดำเนินการอย่างไร นายเชิดเกียรติ กล่าวว่า ต้องมีทะเบียนสมรส หรือ หลักฐานเทียบเท่า รวมไปถึงเอกสารยืนยันความสัมพันธ์กับผู้ที่มีสัญชาติไทย อย่างไรก็ตาม จะพิจารณาเป็นรายกรณี