รีเซต

ชู 'อ้อย-มัน-ปาล์ม ' มุ่งฮับอุตฯไบโอรีไฟเนอรี่ เจาะตลาด 1.7 ล้านล้านเหรียญฯ

ชู 'อ้อย-มัน-ปาล์ม ' มุ่งฮับอุตฯไบโอรีไฟเนอรี่ เจาะตลาด 1.7 ล้านล้านเหรียญฯ
มติชน
7 มีนาคม 2565 ( 20:20 )
67

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG Model ที่ภาครัฐให้การส่งเสริมสนับสนุนและมุ่งหน้าขับเคลื่อนเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

 

โดย อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ จะมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างและรูปแบบการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตจากภาคการเกษตรเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต โดยเฉพาะพืชที่มีความสำคัญต่อภาคการเกษตรและความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะต้องสร้างให้เกิดความเชื่อมโยงของกระบวนการผลิตที่จำเป็นต่อการเพิ่มผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ในระยะยาวเข้าด้วยกันทั้งหมด ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายใต้แนวคิดของระบบไบโอรีไฟเนอรี่ ร่วมกับการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะสามารถช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศจากอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปและผลิตผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าสูง อันจะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาของสินค้าเกษตรภายในประเทศ เพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสังคมไทย ลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

 

ผลการศึกษาโครงการพบว่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพเป้าหมายที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่สุดและควรที่จะพัฒนาเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ ได้แก่

 

1) กรดอะมิโน ที่ใช้เป็นอาหารเสริมประเภทต่าง ๆ เช่น ทริโอนีน ทริพโทฟาน และไลซีน จากพืชที่ให้แป้งและน้ำตาลอย่างอ้อยและมันสำปะหลัง

 

2) น้ำมันหล่อลื่นชีวภาพ (Biolubricant) จากพืชที่ให้น้ำมันอย่างปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในระดับรองลงมา ได้แก่ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (BioTransformer oil) เมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนต (MES) และผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพอย่าง Bio Hydrogenated Diesel หรือ Green Diesel ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูง มีแนวโน้มความต้องการและการเติบโตในตลาดโลกสูง รวมถึงมีราคาต่อหน่วยสูง ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสของภาครัฐและผู้ประกอบการไทยที่จะส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนหรือเอื้อให้เกิดการร่วมทุน เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและขยายผลในเชิงพาณิชย์

 

สำหรับมูลค่าผลิตภัณฑ์ไบโอรีไฟเนอรี่ในตลาดโลก คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9.41 ต่อปี ในช่วงปี 2561 – 2573 โดยในปี 2564 นั้น ผลิตภัณฑ์ไบโอรีไฟเนอรี่มีมูลค่า 670,840 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2573 คาดว่าผลิตภัณฑ์ไบโอรีไฟเนอรี่จะมีมูลค่าสูงถึง 1,734,510 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของมูลค่าตลาดเทคโนโลยีการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ ที่คาดว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10.43 ต่อปี ในช่วงดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง