รีเซต

3จว.เสี่ยงโรคอาร์เอสวี สธ.เตือนเด็กหายใจเกิน 30 ครั้ง/นาที ต้องรีบพบแพทย์

3จว.เสี่ยงโรคอาร์เอสวี สธ.เตือนเด็กหายใจเกิน 30 ครั้ง/นาที ต้องรีบพบแพทย์
มติชน
8 พฤศจิกายน 2563 ( 17:26 )
76
3จว.เสี่ยงโรคอาร์เอสวี สธ.เตือนเด็กหายใจเกิน 30 ครั้ง/นาที ต้องรีบพบแพทย์

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ที่กำลังระบาดในกลุ่มเด็กเล็กในขณะนี้

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า อาร์เอสวี เป็นไวรัสชนิดหนึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดตามฤดู ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นของไทย มักเกิดในเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เนื่องจากผู้ใหญ่อาจจะเคยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาแล้วเมื่อตอนเป็นเด็กและร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว อาการของโรคจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือ ไข้ ไอ น้ำมูก หรือมีภาวะแทรกซ้อนในบางราย เช่น หลอดอักเสบ หูอักเสบ และภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดคือปอดบวม อัตราการเสียชีวิตไม่สูง เมื่อเทียบกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคร่วมกับหลายหน่วยงานเฝ้าระวังผู้เป็นไข้หวัดและปอดบวม ว่ามีการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี มากน้อยแค่ไหน ภาพรวมพบว่า การป่วยโรคไข้หวัดที่มีสาเหตุจากไวรัสอาร์เอสวี เฉลี่ยร้อยละ 30 ต่อปี และในช่วงหน้าหนาวจะมีการระบาดไข้หวัดมากขึ้น โดยเมื่อเทียบสถานการณ์ของเดือนพฤศจิกายนในปี 2562 และ ปี 2563 พบว่าปีนี้จำนวนเด็กที่เป็นไข้กวัดไม่เพิ่มขึ้น

 

“ลงในรายละเอียดพบว่า โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) จ.เชียงราย จำนวนผู้ป่วยในและนอกไม่เพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยเป็นโรคอาร์เอสวี ประมาณร้อยละ 20 ส่วน จ.ลำปาง พบว่าผู้ป่วยนอกและในลดลง จ.สงขลา จำนวนไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา ส่วนมีข้อมูลเพิ่มเติมที่ อ.หาดใหญ่ พบว่าผู้ป่วยไข้หวัด และผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จ.นครราชสีมา จำนวนเด็กเป็นโรคอาร์เอสวีดูเหมือนจะลดลง ที่ รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก พบเด็กเป็นปวดบวม และโรคอาร์เอสวีเพิ่มมากขึ้น หากดูตามสถานการณ์ภาพรวมไม่เพิ่มขึ้นแต่มีบางจุดต้องจับตาดู เนื่องจากพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เช่น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จ.พิษณุโลก และ จ.นครศรีธรรมราช” นพ.โอภาส กล่าว

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า การรักษาไม่แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไป เนื่องจากเชื้อนี้ไม่มียาต้านไวรัสและวัคซีน ใช้การรักษาตามอาการและระวังอาการแทรกซ้อน คำแนะนำสำหรับการดูแลเด็กเล็กที่ต่ำกว่า 5 ขวบ โดยจะต้องระวังมากจึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ คือ ห้ามพาเด็กไปคลุกคลีกับผู้ป่วย ไม่เข้าที่แออัดโดยไม่จำเป็น และหากพบว่าเด็กมีอาการป้วยไข้หวัด ก็ห้ามพาไปที่ศูนย์เด็กเล็ก เพราะจะเกิดการแพร่เชื้อของโรคต่อ ส่วนผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็กหรือสวนสนุกที่มีเด็กไป จะต้องเช็กทำความสะอาดพื้นที่บ่อยๆ และหากพบอาการไข้ ไอ น้ำมูก จะต้องรีบพบแพทย์ทันที ส่วนกรณีเด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนโรคไข้หวัดนำไปสู่ปอดบวม สังเกตจากการนับจังหวะการหายใจ โดยเด็กเล็กจะหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ ด้วยวิธีจับเวลา สังเกตหน้าอกขยายขึ้นและลง นับเป็น 1 ครั้ง โดยปกติจะเด็กเล็กจะหายใจอยู่ที่ 30 ครั้งต่อนาที ผู้ใหญ่หายใจ 20 ครั้งต่อนาที โดยหากเด็กที่หายใจเกิน 30 ครั้งต่อนาที ร่วมกับอาการหายใจแรง เช่น ซี่โครงบุ๋ม จมูกบาน จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

 

“ช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 คนไทยสวมหน้ากากอนามัยกันเยอะ โรคไข้หวัดลดลงอย่างมาก ดังนั้นเป็นสิ่งที่ยืนยันว่ามาตรการสวมหน้ากากอนามัย จะช่วยลดการระบาดของโรคอาร์เอสวีได้เช่นกัน และเนื่องจากการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอาร์เอสวีหรือไม่เป็น ในการรักษาเด็กมีประโยชน์ไม่เยอะ เพราพไม่มียารักษาโรคเฉพาะและไม่มีวัคซีน จะใช้การรักษาตามอาการ ดังนั้นการที่ตรวจว่าเป็นโรคอาร์เอสวีนั้นไม่จำเป็น เราจะใช้การตรวจวินิจฉัยในกรณีที่มีผู้ป้วยจำนวนมาก และเพื่อใช้ในการสอบสวนโนคทางระบาดวิทยา” นพ.โอภาส กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง