รีเซต

สธ.พบสัปดาห์เดียว เด็กอายุ 0-5 ปี ติดเชื้อโควิดแล้วกว่า 6,000 ราย

สธ.พบสัปดาห์เดียว เด็กอายุ 0-5 ปี ติดเชื้อโควิดแล้วกว่า 6,000 ราย
TNN ช่อง16
23 กุมภาพันธ์ 2565 ( 15:03 )
109

วันนี้ (23 ก.พ.65) นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุ เด็กปฐมวัย 0-5 ปี ในช่วงที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อในเด็กเพิ่มสูงขึ้น โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เด็กวัย 0-5 ปี มีการติดเชื้อถึง 6,000 กว่าราย สูงสุดอยู่ที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และนนทบุรี  

 

ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์โควิด-19 พในเด็กอายุ 0-5 ปี ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 ถึง 17 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า มีผู้ป่วยสะสม 107,059 ราย เสียชีวิต 29 ราย แบ่งเป็น

- อายุ 0-1 ปี จำนวน 24,743 ราย

- อายุ 2 ปี จำนวน 21,237 ราย

- อายุ 3 ปี จำนวน 20,525 ราย

- อายุ 4 ปี จำนวน 20,373 ราย

- อายุ 5 ปี จำนวน 20,181 ราย 

 

ขณะเดียวกัน กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ติดเชื้อสะสม 6,829 ราย ในจำนวนนี้ แม่เสียชีวิต 110 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 และบางรายรับวัคซีนเพียง 1 เข็มเท่านั้น ส่วนลูกเสียชีวิต 66 ราย ที่เหลือสามารถรักษาได้ทัน ซึ่งอัตราการเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า 

 

สำหรับสาเหตุการติดเชื้อ ในเด็กปฐมวัย 0-5 ปี ส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว และด้วยวัยของเด็กที่ขาดความใส่ใจในการดูแลสุขอนามัยในการป้องกัน รวมถึงในช่วงปฐมวัย 0-5 ปี ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 

 

นพ.เอกชัย กล่าวต่อว่า ในช่วงโควิด-19 กลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือ ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะเด็กหนุ่มเหล่านี้เมื่อมีความเสี่ยงและติดเชื้ออาจจะป่วยหนักได้ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบระบบหายใจล้มเหลว 

 

สิ่งสำคัญคือการป้องกันการติดเชื้อในเด็กคือคนรอบข้างของเด็กในครอบครัวให้มีการรับวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมมากที่สุด พยายามสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อทำกิจกรรมร่วมกัน สอนให้เด็กเล็กล้างมืออย่างสม่ำเสมอหลังเล่นหลังรับประทานอาหาร 

 

โดยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเพราะเด็กอาจไม่รู้จักการใช้หน้ากากอนามัย และอาจจะทำให้หายใจไม่ออกได้ หลีกเลี่ยงการใช้อยู่ในสถานที่แออัด 

 

 

ด้าน นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย ระบุถึงการดูแลป้องกันอย่างไร เมื่อเด็กปฐมวัยติดเชื้อโควิด โดยหากผู้ปกครองมีผลบวก และเด็กติดเชื้อโควิดด้วย จะใช้ระบบการรักษาแบบครอบครัว ไม่ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาลหรือศูนย์พักคอย 

 

หากเด็กติดเชื้อแล้วผู้ปกครองไม่ติดเชื้อก็จะอนุญาตให้ผู้ปกครอง สามารถอยู่ระหว่างการรักษาได้ แต่จะไม่แนะนำให้ปู่ย่า ตายาย หรือคนในครอบครัวที่มีอายุสูง ดูแลเด็กที่ติดเชื้อเนื่องจากอาจจะติดเชื้อโควิด-19 ได้ 

 

ส่วนพ่อแม่ติดเชื้อ และเด็กไม่ติดเชื้อกรณีนี้ หากมีญาติสามารถที่จะดูแลเด็กได้ก็ให้ดูแลต่อแต่หากไม่มีผู้ที่จะดูแลเด็กทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็จะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาประสานและช่วงดูแลต่อ 

 

ขณะที่ อาการของเด็กที่ติดเชื้อโควิคที่พบมากที่สุด คือ มีไข้หลายวัน อาจจะมีไข้สูงหรือต่ำ ไอแห้ง เจ็บคอ อ่อนเพลีย คัดจมูก ซึ่งในกลุ่มนี้อาการจะคล้ายไข้หวัด บางรายมีอาการผื่นแดง จมูกไม่ได้กลิ่นเบื่ออาหาร ในเด็กทารก อาจดื่มนมน้อยลง อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย

 

ทั้งนี้ มีการแบ่งระดับ อาการของเด็ก 2 ระดับ คือ "ระดับน้อย" มีไข้ต่ำต่ำ ถ่ายเร็วนิดหน่อย ไอพอกินข้าวได้ "ระดับที่ 2" มีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส หายใจเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจ ปากเขียว หากค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94 ควรพาไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ปกครองดูเรื่องไข้เป็นหลัก เน้นการเช็ดตัวให้มากกว่าการกินยาลดไข้

 

สำหรับคำแนะนำนั้น จะดูแลรักษาตามอาการ หากเด็กมีไข้ให้กินยาลดไข้ เช่น ยาพาราฯ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และเช็ดตัว เพื่อลดไข้ หากเด็กมีอาการไอ มีน้ำมูก ให้กินยาแก้ไอหรือยาลดน้ำมูกและดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีอาการถ่ายเหลวให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าหากเด็กติดเชื้อโควิด-19 แล้ว อาการน้อยหรือไม่มีอาการ สามารถทำการรักษาตัวที่บ้านได้.

 

ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN ONLINE

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง