รีเซต

น.ศ.พยาบาล เสริมทัพสายด่วน 1330 โทรฯ ติดตามอาการ-ประสานงานดูแลผู้ป่วยโควิด

น.ศ.พยาบาล เสริมทัพสายด่วน 1330 โทรฯ ติดตามอาการ-ประสานงานดูแลผู้ป่วยโควิด
มติชน
22 มีนาคม 2565 ( 15:43 )
57
น.ศ.พยาบาล เสริมทัพสายด่วน 1330 โทรฯ ติดตามอาการ-ประสานงานดูแลผู้ป่วยโควิด

วันนี้ (22 มี.ค.65) ดร.ประกริต รัชวัตร์ รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดระลอกที่ 2 จนถึงระลอกสายพันธุ์โอมิครอน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี ได้มีส่วนร่วมในการรับมือสถานการณ์ด้วยการสนับสนุนให้นักศึกษา (น.ศ.) พยาบาล เข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช.1330 ตั้งแต่การให้ข้อมูล ติดตามอาการ ตลอดจนการประสานงานเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที

 

ดร.ประกริต กล่าวว่า จนถึงขณะนี้มี น.ศ.พยาบาลจากวิทยาลัยพยาบาลฯ ชั้นปีที่ 2-3 จำนวน 52 คน ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี ในการช่วยดูแลผู้ติดเชื้อใน จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี ที่ยังเข้าไม่ถึงระบบการดูแล ทั้งนี้ น.ศ.พยาบาล สามารถเลือกได้ว่าจะทำจำนวนกี่วัน เช่น วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 16.00 – 20.00 น. จะให้รับผิดชอบโทรหาผู้ป่วย 40 สายต่อคนต่อวัน และวันเสาร์ – อาทิตย์ แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 8.30 – 16.30 น. ช่วงที่สอง 16.30 – 20.00 น. ซึ่งจะรับผิดชอบ 120 สายต่อคนต่อวัน

 

“การเข้าร่วมกิจกรรมของ น.ศ.สะท้อนถึงการมีจิตอาสาที่จะช่วยผู้ป่วย และการแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ในภาวะวิกฤตระดับประเทศ ถึงแม้ว่านักศึกษาจะไม่ได้ลงพื้นที่ไปดูแลผู้ป่วยโดยตรง แต่การให้คำแนะนำและติดตามอาการผู้ป่วยก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กัน” ดร.ประกริต กล่าว

 

น.ส.ปณาลี วงศ์ตั้นหิ้น น.ศ.ชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี กล่าวว่า สาเหตุที่เข้ามาเป็นอาสาสมัคร เพราะอยากมีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจากการทำงานมา 2 สัปดาห์ พบว่าสายด่วน สปสช.1330 ทำงานกันอย่างหนักมาก โดยเฉพาะในช่วงพีคของสถานการณ์ อย่างไรก็ดี ส่วนตัวรับผิดชอบเพียงแค่โทรศัพท์หาผู้ป่วยจึงไม่ได้เหนื่อยมาก เพียงแต่บางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีความเครียดและความกังวลทำให้หลายอย่างที่พูดออกมาบั่นทอนจิตใจบ้าง ซึ่งเข้าใจได้ว่าทุกคนเมื่อติดเชื้อต่างก็อยากหายป่วยให้เร็วที่สุด เพราะบางกรณีผู้ป่วยบอกว่ารอมานานพึ่งมีคนติดต่อมา

 

“การที่เรามาทำตรงนี้ทำให้เราเห็นอะไรหลายอย่างมากขึ้น เช่น ความหลากหลายของอาการป่วยหลังติดเชื้อ เพราะบางครั้งผู้ป่วยเขาก็แชร์ประสบการณ์การติดเชื้อของเขาว่ามีอาการยังไง และยังเป็นการสอนเราในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปในตัว การใช้คำพูด ควบคุมอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจผู้คน” น.ส.ปณาลี กล่าว

นายวุฒิเชษฐ์ อินปลัด น.ศ.ชั้นปีที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี กล่าวว่า ตัดสินใจมาเป็นอาสาสมัครเพราะว่าทราบถึงสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และสายด่วน สปสช.1330 ก็มีกำลังคนไม่เพียงพอ ดังนั้น การใช้วิธีโทรติดตามจึงเป็นส่วนสำคัญมาก ในแง่นึงนอกจากจะเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย ยังเป็นการให้กำลังใจผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้คลายจากความเครียดและความกังวล จากที่ติดตามมาหลายเคส บางคนบอกว่าเราพึ่งเป็นคนแรกที่ติดต่อเขากลับไป เขาบอกว่าแค่โทรฯ มาติดตามอาการเขาก็รู้สึกดีและสบายใจขึ้นแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง