รีเซต

ปศุสัตว์ประจวบฯเร่งตรวจหาเชื้อ ASF ฟาร์มหมูรัศมี 1 กม.รอบจุดเกิดโรค หลังระบาดใน 3 ฟาร์ม 2 อำเภอ

ปศุสัตว์ประจวบฯเร่งตรวจหาเชื้อ ASF ฟาร์มหมูรัศมี 1 กม.รอบจุดเกิดโรค หลังระบาดใน 3 ฟาร์ม 2 อำเภอ
มติชน
23 มกราคม 2565 ( 23:25 )
90
ปศุสัตว์ประจวบฯเร่งตรวจหาเชื้อ ASF ฟาร์มหมูรัศมี 1 กม.รอบจุดเกิดโรค หลังระบาดใน 3 ฟาร์ม 2 อำเภอ

จากกรณีตรวจพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ในฟาร์มสุกร 3 แห่ง ใน 2 อำเภอที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยฟาร์มสุกร หมู่ 4 ต.อ่าวน้อย อ.เมือง ฟาร์มสุกร หมู่ 5 ต.อ่างทอง และฟาร์มสุกร หมู่ 13 ต.นาหูกวาง อ.ทับสะแก ทุกรายเป็นผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย มีการทำลายสุกรทั้งหมด 117 ตัว และฝังกลบในฟาร์มที่เกิดโรคตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคระบาดในสัตว์ พร้อมเร่งจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรตามราคาประเมิน พร้อมประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชนิด ASF เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรในรัศมี 5 กม.รอบจุดเกิดโรค

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มกราคม นายยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ออกตรวจฟาร์มสุกรในรัศมี 1 กม.รอบจุดเกิดโรคเพื่อเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อ หากพบสุกรติดเชื้อในฟาร์มที่มีการเลี้ยงสุกรน้อยกว่า 50 ตัว หรือเป็นเกษตรกรรายย่อย จะต้องทำลายสุกรทุกตัว หากเป็นฟาร์มขนาดกลางที่เลี้ยงสุกร 50-500 ตัว หรือฟาร์มขนาดใหญ่ที่เลี้ยงสุกร 500 ตัวขึ้นไป จะทำลายสุกรเฉพาะในคอกที่พบสุกรติดเชื้อ ส่วนคอกอื่นจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจ หากพบสุกรติดเชื้อก็จะทำลายสุกรทั้งคอก

 

นายยุษฐิระระบุว่า จากการสำรวจข้อมูลการเลี้ยงสุกรพบว่ามีเกษตรกรกว่า 1,000 ราย จำนวนสุกรกว่า 80,000 ตัว เป็นเกษตรกรระดับกลางถึงใหญ่ 25 ราย ที่เหลือเป็นเกษตรกรรายย่อยที่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก ซึ่งค่อนข้างมีความเสี่ยง เพราะมีระบบการป้องกันในฟาร์มไม่ดีเท่าฟาร์มขนาดกลางถึงใหญ่ที่เลี้ยงในระบบปิด

 

“แนะนำให้เฝ้าระวังป้องกันอย่างเข้มงวด หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสุกรด้วยเศษอาหาร เพราะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากหากเศษอาหารดังกล่าวปนเปื้อนเชื้อ ASF อาจทำให้ฝูงสุกรที่แข็งแรงติดโรคได้ สุกรที่จัดหามาควรมาจากแหล่งผู้จัดหาที่น่าเชื่อถือและผ่านการรับรอง เนื่องจากยานพาหนะ อุปกรณ์ และคนอาจเป็นวัตถุพาหะนำเชื้อโรค ASF ได้เช่นกัน นอกจากนั้น ตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนที่เข้ามาในฟาร์มไม่มีการสัมผัสกับสุกรอื่นใดในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อยานพาหนะและอุปกรณ์อย่างถูกต้อง รถบรรทุกขนซากสัตว์ถือว่ามีความเสี่ยงสูง และไม่ควรให้เข้ามาในฟาร์มโดยเด็ดขาด” นายยุษฐิระกล่าว

 

ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กล่าวอีกว่า หาพบสุกรมีอาการผิดปกติให้แจ้งสัตวแพทย์ทันที และนำสุกรเข้ารับการตรวจหาเชื้อ สุกรที่ป่วยโรค ASF จะมีอาการไข้สูง 40.5-42 องศาเชียลเชียส เบื่ออาหาร เลือดออกทางผิวหนังและอวัยวะภายใน แท้งลูก มีอาการซึม ไอ หายใจลำบาก เสียชีวิตกะทันหัน อัตราการตาย 30-100% ส่วนในลูกสุกรอัตราตายสูงถึง 80-100% ภายใน 14 วัน โดยเชื้อไวรัส ASF ค่อนข้างทนทานต่อสภาพแวดล้อม สำหรับโรค ASF ไม่ติดต่อสู่คน หรือสัตว์อื่นที่ไม่ใช่สุกร ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เนื้อสุกรที่ติดเชื้อ ASF จึงสามารถปรุงสุกรับประทานได้ตามปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง