รีเซต

ยานภารกิจ 'สำรวจดวงจันทร์' ครั้งที่ 3 ของอินเดีย เข้าสู่วงโคจรดวงจันทร์สำเร็จ

ยานภารกิจ 'สำรวจดวงจันทร์' ครั้งที่ 3 ของอินเดีย เข้าสู่วงโคจรดวงจันทร์สำเร็จ
Xinhua
6 สิงหาคม 2566 ( 18:55 )
109

นิวเดลี, 6 ส.ค. (ซินหัว) -- เมื่อค่ำวันเสาร์ (5 ส.ค.) องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย ประกาศว่ายานอวกาศจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) สำหรับภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งที่ 3 ของอินเดีย เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้สำเร็จ

องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดียโพสต์ข้อความสั้น ๆ บนโซเชียลมีเดียว่ายานอวกาศจันทรายาน-3 เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้สำเร็จแล้ว พร้อมระบุว่าได้รับคำสั่งจากมิชชัน ออเปอเรชั่น คอมเพล็กซ์ หรือ ศูนย์ปฏิบัติภารกิจ (Mission Operations Complex : MOX) รวมถึงเครือข่ายบัญชาการควบคุมจากระยะไกล (ISRO Telemetry, Tracking and Command Network : ISTRAC) ในเบงกาลูรู ให้ทำการเผาไหม้ย้อนกลับ (retro-burning) บริเวณจุดเพริลูน (Perilune) หรือจุดที่ยานอวกาศในวงโคจรของดวงจันทร์อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากที่สุด

องค์การฯ เผยว่าปฏิบัติการต่อไปคือการลดวงโคจรซึ่งมีกำหนดปฏิบัติการตอน 23.00 น. ของวันอาทิตย์ (6 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

องค์การฯ ยังได้แบ่งปันข้อความที่ได้รับจากยานอวกาศจันทรายาน-3 มายังศูนย์ฯ ว่า "นี่คือจันทรายาน-3 ฉันรู้สึกได้ถึงแรงดึงดูดของดวงจันทร์"

ด้านออล อินเดีย เรดิโอ (AIR) สถานีวิทยุกระจายเสียงของอินเดียรายงานว่า  หลังเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ ยานอวกาศจันทรายาน-3 จะโคจรรอบดวงจันทร์หลายครั้ง ก่อนจะค่อยๆ เข้าใกล้ดวงจันทร์

สถานีฯ ระบุว่าหลังจากยานนี้เข้าสู่วงโคจรดวงจันทร์ที่ระยะ 100 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ ยานลงจอดและยานสำรวจจะถูกแยกออกจากกันและเคลื่อนตัวสู่พื้นผิวดวงจันทร์อย่างนุ่มนวล โดยคาดการณ์ว่ายานอวกาศลำดังกล่าวจะเดินทางนาน 40 วัน ก่อนลงจอดใกล้ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ประมาณวันที่ 23 ส.ค.

อนึ่ง ยานอวกาศจันทรายาน-3 ถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ยานลงจอดของยานอวกาศจันทรายาน-2 (Chandrayaan-2) ที่ถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2019 ได้ขาดการติดต่อก่อนถึงกำหนดลงจอดบนดวงจันทร์อย่างนุ่มนวลเพียงไม่นาน เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2019

ข่าวที่เกี่ยวข้อง