รีเซต

ส่งออกไทยมี.ค.พลิกบวก4.17%สูงสุดรอบ8เดือน ชี้ราคาน้ำมันดิ่งน่าห่วงกว่าโควิด-19

ส่งออกไทยมี.ค.พลิกบวก4.17%สูงสุดรอบ8เดือน ชี้ราคาน้ำมันดิ่งน่าห่วงกว่าโควิด-19
มติชน
21 เมษายน 2563 ( 12:21 )
38

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า การส่งออกเดือนมีนาคม 2563 มีมูลค่าสูงสุดรอบ 19 เดือน ที่ 22,405 ล้านเหรียญสหรัฐ  ขยายตัว 4.17% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือนหรือสูงในรอบ 5 ไตรมาส  จากการขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ มีสัญญาณฟื้นตัว ขยายตัวต่อเนื่องเดือนที่4 และกลับมาขยายตัวสูงถึง 17.59% ผลของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน(เทรดวอร์)เบาบางลง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมอื่น เช่น ทองคำ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และโซลาร์เซลล์ เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน รวมถึงสินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ ผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย และอาหารสัตว์เลี้ยง ยังขยายตัวได้ดี

 

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า อาจมีเรื่องราคาน้ำมันดิบระดับต่ำเป็นปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 8.12% ของการส่งออกในเดือนมีนาคม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกยังขยายตัว  2.12%  ทำให้ส่งออกไตรมาสแรกปี 2563 ขยายตัวที่ 0.91% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ขยายตัว 1.06%

 

“ ยอมรับว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวงกว้างมากขึ้น กระทบต่อการส่งออกในหลายตลาดลดลง เช่น จีน ยุโรป ตะวันออกกลาง แต่ไม่เสียต่อไทยอย่างเดียว น่าจะส่งผลดีต่อไทยด้วย เพราะหลายประเทศกระจายความเสี่ยงหันนำเข้าจากไทยเพิ่ม โดยเฉพาะสหรัฐฯขยายตัว 42.9% รวมถึงอาเซียน ซีแอลเอ็มวี และทวีปออสเตรเลีย  ขณะที่ความต้องการในกลุ่มอาหาร และอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ เช่น แอร์  ส่วนแนวโน้มส่งออกไตรมาส 2 อาจยังไม่ชัดเจนในเรื่องของราคาน้ำมันที่ลดลงมากหลุด 37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะกระทบต่อสินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมันส่งออกของไทยหดตัวมาก 53% และการแพร่ระบาดของโควิดจะยืดเยื้อแค่ไหน ซึ่งก็ยังมองว่าจะยังเป็นบวกได้ หากติดลบก็ไม่ได้มากถึง5-8%อย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะที่ส่งออกไม่ได้เพราะติดเรื่องโลจิสติกส์   “ นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

 

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ส่วนการนำเข้าเดือนมีนาคม มีมูลค่า 20,813 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.25%  ทำให้ได้ดุลการค้า 1,592 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไตรมาสแรกปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 62,672 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.91% การนำเข้า มีมูลค่า 58,738 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.92% และได้ ดุล 3,934 ล้านเหรียญสหรัฐ ในแง่มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนมีนาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 693,353 ล้านบาท ขยายตัว 4.21% ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 653,096 ล้านบาท ขยายตัว 7.32% ส่งผลให้การค้า เกินดุล 40,257 ล้านบาท ภาพรวมไตรมาสแรกปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 1,903,157 ล้านบาท หดตัวที่ 2.98 % การนำเข้า มีมูลค่า 1,808,691 ล้านบาท หดตัว 5.90% ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2563 การค้าเกินดุล 94,466 ล้านบาท

 

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกทั้งปี 2563 นั้น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารมีความเด่นชัดมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารของโลก สามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่ผลของสงครามการค้าเริ่มมีสัญญาณที่ดีตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในการฟื้นตัวอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การกลับมาเปิดประเทศของจีนได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้ง สหรัฐ และบางประเทศเพิ่มนำเข้าในครึ่งปีหลัง ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์จะประชุมกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันหลังจากโควิดคลี่คลาย และเร่งลดอุปสรรค เรื่องต้นทุนและการขนส่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง