รีเซต

พ่อแม่ต้องรู้! จับสัญญาณพฤติกรรม สาเหตุลูกไม่อยากไปโรงเรียน

พ่อแม่ต้องรู้! จับสัญญาณพฤติกรรม สาเหตุลูกไม่อยากไปโรงเรียน
TNN ช่อง16
1 ตุลาคม 2563 ( 09:58 )
294
พ่อแม่ต้องรู้! จับสัญญาณพฤติกรรม สาเหตุลูกไม่อยากไปโรงเรียน

จากกระแสข่าวปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนที่คุณครูได้กระทำต่อเด็ก จนสั่นสะเทือนวงการศึกษาไปทั้งประเทศ

วันนี้ (1 ต.ค.63) TNN ONLINE ได้พูดคุยถึงเรื่องราวดังกล่าวกับ พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ซึ่งได้มาให้ความรู้พร้อมคำแนะนำกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ถึงเทคนิคการจับสัญญาณพฤติกรรมของลูกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหา การเยียวยาจิตใจของเด็กที่ต้องอาศัยความรักของพ่อแม่เป็นส่วนช่วยในการชโลมหัวใจให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง

นอกจากนี้ คำถามที่เป็นที่ถกเถียงกันของคนในสังคมไทย ปัจจุบัน "การตีเด็ก" ยังจำเป็นอยู่ไหม?

ทุกคำถามที่สงสัย มีคำตอบ...


เปิด 3 สาเหตุหลัก เหตุใด "ลูกไม่อยากไปโรงเรียน"

พญ.กุลนิดา เริ่มต้นอธิบายถึงปัญหาที่หลายๆ บ้านมักประสบพบเจอ นั่นก็คือ "ลูกไม่อยากไปโรงเรียน" สำหรับปัญหาดังกล่าวนั้น มีได้หลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากตัวเด็ก เกิดจากโรงเรียน และเกิดจากที่บ้าน 

เกิดจากตัวเด็ก : มีโรคประจำตัว พัฒนาการล่าช้า ทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน เด็กมีความวิตกกังวล หรือเป็นโรคสมาธิสั้นร่วมด้วยหรือไม่ ก็เป็นสาเหตุทำให้ไม่อยากไปโรงเรียนได้

เกิดจากโรงเรียน : คุณครูดุ ให้การบ้านเยอะ เด็กเรียนหนัก ถูกเพื่อนแกล้ง รวมทั้ง อาจกำลังเผชิญ "ความรุนแรง" ในโรงเรียนอยู่ก็เป็นได้

เกิดจากที่บ้าน : การเลี้ยงดูของครอบครัวที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าอยู่บ้านแล้วสบาย ได้เล่นเกม ได้ดูโทรทัศน์ทั้งวัน เมื่อถึงวันที่ต้องไปโรงเรียนก็ต้องปฏิบัติตัวให้อยู่ในกฎระเบียบ มีข้อบังคับต่างๆ นานา ก็อาจส่งผลให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนได้ 


จับสัญญาณพฤติกรรมเด็ก "ลูกกำลังเจอปัญหาอยู่หรือไม่"

- บ่นไม่อยากไปโรงเรียน วันนี้ไม่อยากไป พรุ่งนี้ไม่อยากไป หรือไม่อยากไปเฉพาะวันพุธ

- เริ่มมีข้ออ้างว่าไม่สบาย ปวดหัว ปวดท้อง ปวดแขน ปวดขา

- ร้องไห้

- วิตกกังวล ซึมเศร้า แยกตัวออกมา เก็บตัวเงียบไม่เข้าสังคม

- แสดงอาการก้าวร้าว

- โมโหร้าย

- แสดงความรุนแรง เช่น นำตุ๊กตามาชนกันแรงๆ ตีกัน 

- หวาดผวา 

- อาการทางกาย เช่น น้ำลายไหลไม่หยุด การกลับมาฉี่รดที่นอนอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยหยุดแล้ว อุจาระรดที่นอน 

- บาดแผลตามร่างกาย

- อุปกรณ์ต่างๆ ข้าวของ เสียหาย

พญ.กุลนิดา เผยว่า ส่วนมากพฤติกรรมของเด็กจะออกมาคล้ายๆ กัน ต้องมาหาสาเหตุอีกครั้งหนึ่ง โดยการหาสาเหตุก็จะใช้วิธีการพูดคุยกับเด็ก ว่า ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง แต่เด็กที่เกิดปัญหาส่วนใหญ่จะไม่บอก เนื่องจากวัยยังเล็กไป สื่อสารออกมาไม่เป็น ส่วนที่กรณีที่บอกไม่ได้ เพราะเมื่อบอกไปแล้ว พ่อแม่อาจจะไปเอาเรื่องครู ทำให้ครูมาดุเด็กมากขึ้น หรือประณามทำให้เพื่อนมาแกล้งมากขึ้น 

นอกจากนี้ พ่อแม่ยังสามารถสอบถามพูดคุยกับคุณครู พูดคุยกับผู้ปกครองด้วยกัน พูดคุยกับเพื่อนๆ ของเด็ก เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงด้วยก็ได้

"บางทีเด็กไม่อยากไปโรงเรียนวันพุธ พ่อแม่ก็สามารถสังเกตได้ว่า ตารางเรียนของวันพุธมีวิชาอะไรที่คาดว่าทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน" พญ.กุลนิดา ยกตัวอย่าง


คำแนะนะวิธีการพูดของพ่อแม่

การพูดกับลูก ต้องเป็นไปในลักษณะให้ความเชื่อใจ ไว้วางใจ เช่น  "ไม่เป็นไร หนูสามารถเล่าให้แม่ฟังได้ แม่จะอยู่เคียงข้างหนู ไม่ทำให้หนูโดนดุเพิ่มขึ้น" 

การพูดกับครู จะต้องไม่พูดในลักษณะต่อว่าคุณครู แต่ใช้ข้อเท็จจริงคุยกัน เช่น "ลูกนอนร้องไห้ ไม่อยากมาโรงเรียน" แต่ไม่ได้บอกว่า "ลูกบอกว่าครูดุ" 

*แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ต้องดูหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน และนำมาวิเคราะห์ค้นหาสาเหตุที่แท้จริงอีกครั้งหนึ่ง

เนื่องจากอาจจะมีหลายปัจจัย เช่น เกิดจากตัวเด็กและโรงเรียนร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่นเป็นเด็กที่ปรับตัวในการเข้าสังคมยาก ขณะเดียวกันไปเจอกับคุณครูที่ดุ เพื่อนก็ไม่รับเข้ากลุ่มก็อาจทำให้ไม่อยากไปโรงเรียนได้*

แก้ไขปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน

พญ.กุลนิดา กล่าวว่า พ่อแม่ต้องตรวจสอบลูกทุกวันว่าได้รับอาการบาดเจ็บส่วนใดของร่างกายหรือไม่ และต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ทำให้เป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกสามารถเล่าให้พ่อแม่ฟังได้อย่างไว้วางใจ

อย่างเช่นชวนลูกคุยว่า "ช่วงนี้มีข่าวเด็กโดนครูตี ที่โรงเรียนหนูมีบ้างหรือเปล่า แล้วหนูโดนบ้างไหม" ทำให้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เป็นเรื่องของเขาเจาะจงคนเดียว เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูก 

และพ่อแม่มีหน้าที่ประสานงานกับโรงเรียนด้วย คุยกับคุณครูสม่ำเสมอว่าลูกมีพัฒนาการอย่างไร มีปัญหาอะไรอยากให้ช่วยเหลือหรือไม่ การบ้านเสร็จไหม และควรจะมีเครือข่ายผู้ปกครองด้วย จะทำให้ได้รู้ว่าลูกเราเป็นอย่างไร ลูกเขาเป็นอย่างไร เจอคุณครูทำพฤติกรรมแบบเดียวกันหรือไม่ 


เข้าใจ ให้ความรัก พื้นฐานเยียวยาจิตใจลูกที่สำคัญ!

สำหรับการเยียวยาทางการแพทย์นั้น พญ.กุลนิดา ระบุว่า ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ถ้าเกิดจากความรุนแรงต้องมาดูว่าระดับไหน ถ้ารุนแรงทั้งร่างกายและทางจิตใจ อันดับแรกต้องทำให้เด็กเกิดความเชื่อใจก่อน และทำให้รู้สึกปลอดภัย ทำบริบทของโรงเรียนให้ปลอดภัย คุณครูต้องไม่ดุแล้ว มีเพื่อนคอยดูแล หรือมีการเปลี่ยนห้องเรียน เด็กก็จะทำให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

ถามว่าหายจากการหวาดกลัวหรือการผวา ต้องใช้เวลาในการเยียวยา หากเยียวยาได้ดีตอนโตก็จะไม่มีปัญหา

*สิ่งสำคัญของการเยียวยา คือ พ่อแม่ที่เข้าใจลูก เข้าใจว่าลูกมีพัฒนาการแบบนี้ ถ้าเป็นเด็กอนุบาลยังไม่สามารถอ่านเขียนได้ก็ยังไม่ควรจะไปเร่ง ถ้าพ่อแม่ "เข้าใจลูกในแบบที่ลูกเป็น" ยอมรับ ให้ความรัก สร้างความสัมพันธ์ที่ดี การเยียวยาก็จะค่อยๆ ดีขึ้น *


ปัจจุบัน "การตีเด็ก" มีความจำเป็นหรือไม่?

คำถามที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ บางคนมองว่า "ไม้เรียว" สร้างคนมาก็เยอะ ขณะที่ บางคนมองว่าเป็นการบ่มเพาะให้เสพความรุนแรงก็มี

ประเด็นนี้ พญ.กุลนิดา ในฐานะที่เป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น มองว่า การสร้างวินัยเชิงบวกไม่แนะนำให้ตี เพราะการตีเป็นการทำร้ายร่างกายอย่างหนึ่ง เมื่อเด็กโดนตีมากขึ้น จะทำให้เด็กคิดว่า ตัวเองไม่ดี คุณครูไม่รัก พ่อแม่ไม่รัก และเมื่อโดนตีบ่อยๆ เด็กจะซึมซับไปเองว่า "การโดนตีเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ ถ้าไม่พอใจใครเขาอาจจะไปตีคนนั้นในอนาคต" ซึ่งจะกลายเป็นความรุนแรงในอนาคตได้


ถ้าไม่ใช้ "ไม้เรียว" แล้วควรทำอย่างไร?

พญ.กุลนิดา กล่าวว่า เมื่อเด็กทำผิด สาเหตุเป็นเรื่องสำคัญว่าเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากเด็ก เช่น สมาธิสั้น ทำให้ซนมาก ทำข้าวของเสียหาย ก็ต้องแก้ไขเรื่องสมาธิสั้น กินยา "แก้ให้ถูกเหตุ" แต่พ่อแม่สามารถปรับพฤติกรรมลูกได้ เมื่อใดที่ทำได้ดี ก็ชื่นชม

แต่หากทำผิด เช่น พูดจาหยาบคาย ก็ทำเป็นไม่ได้ยินก่อน ถ้าลูกทำท่าทะเล้นที่ไม่น่ารักก็ทำเป็นไม่สนใจ หรือหากโวยวาย ก็เพิกเฉยแทน นอกจากนี้ ยังมีการ "ตัดสิทธิ์ในสิ่งที่ชอบ" อดกินไอติม อดเล่นกับเพื่อนเพราะยังทำการบ้านไม่เสร็จ หรือ "ให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ" เช่น ต้องทำเวรหลังเลิกเรียน เพราะทำห้องเรียนเลอะเทอะ 

ท้ายที่สุดนี้ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ฝากด้วยว่า พ่อแม่ต้องคอยสอดส่องว่าลูกมีพฤติกรรมอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ให้ความรักความอบอุ่น ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และที่บ้านก็ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กด้วย

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม