เปิดสถิติเส้นทางพายุเข้าไทยเดือนพ.ค.

จากสถิติย้อนหลัง 74 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2494 - 2567 พบว่า มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมทั้งหมด 7 ลูก โดยในจำนวนนี้เป็นพายุระดับ “ดีเปรสชัน” 6 ลูก และ “พายุโซนร้อน” 1 ลูก แม้จะยังไม่ใช่ช่วงที่พายุมากที่สุดของปี (ซึ่งมักเกิดในเดือนกันยายนและตุลาคม) แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องเริ่มเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
พายุที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมส่วนใหญ่มักมีจุดกำเนิดจากบริเวณ อ่าวเบงกอล หรือ ทะเลอันดามัน แล้วเคลื่อนขึ้นฝั่งที่ประเทศเมียนมาร์ ก่อนจะเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันตก ทำให้พื้นที่ที่มักได้รับผลกระทบมากที่สุดคือแนวตะวันตกของประเทศ ไล่ตั้งแต่ แม่ฮ่องสอน จนถึง ประจวบคีรีขันธ์
นอกจากนี้ ยังมีพายุบางลูกที่เกิดจาก ทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจเคลื่อนผ่านเวียดนามและลาว ก่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย เช่น บริเวณจังหวัดนครพนม มุกดาหาร หรืออำนาจเจริญ แต่เส้นทางนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในเดือนพฤษภาคม
โดยทั่วไป “ฤดูพายุหมุนเขตร้อน” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเริ่มต้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งหมายความว่า หลังจากนี้ไป ประเทศไทยจะต้องจับตาความเคลื่อนไหวของพายุหมุนเขตร้อนกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง
แม้จำนวนพายุในเดือนพฤษภาคมจะยังไม่มาก แต่การเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ทั้งในระดับหน่วยงานท้องถิ่น เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากพายุลูกแรกของฤดูกาลนี้