รีเซต

เอกชน เชียร์ยุบศบค. ช่วยเศรษฐกิจ-แรงงาน แนะตั้งศูนย์ดูแลรูปแบบใหม่

เอกชน เชียร์ยุบศบค. ช่วยเศรษฐกิจ-แรงงาน แนะตั้งศูนย์ดูแลรูปแบบใหม่
มติชน
8 กันยายน 2564 ( 06:16 )
33
เอกชน เชียร์ยุบศบค. ช่วยเศรษฐกิจ-แรงงาน แนะตั้งศูนย์ดูแลรูปแบบใหม่

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวถึง กรณีที่ รัฐบาลจะทำการยกเลิก ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. นั้น เห็นด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องเปลี่ยนแนวทางการบริหารเรื่องโควิด-19บ้าง เมื่อเห็นว่าผู้บริหารหรือหน่วยงานที่ไม่มีคุณภาพก็ควรเปลี่ยนหรือยุบไป สำหรับ ศบค. ที่จัดตั้งขึ้นมานั้น เหมาะสมกับการบริหารจัดการ สถานการณ์โควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่ตอนนั้นไม่ได้มีสถานการณ์ที่รุนแรง แต่รัฐบาลก็ใช้แนวทางนี้ในการบริหารมาตลอด

 

 

รูปแบบ ประชาสัมพันธ์ของ ศบค. อาจจะเหมาะสมกับเมื่อปีที่แล้ว แต่ตอนนี้คนป่วยจำนวนมาก และมีคนกำลังจะตายอีก การแถลงแบบที่ต้องใช้จิตวิทยาอาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะจิตวิทยามันเป็นเพียงยาหอม ที่ทำให้คนคลายกังวลได้ชั่วขณะ ถ้ายุบ ศบค. สำหรับผมคิดว่าน่าเสียได้ และเสียโอกาสมาก

 

 

 

ที่เสียโอกาส เพราะรัฐบาลควรจะใช้ศบค.ในการศูนย์บริหารร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ จัดการประสานงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำการแถลง รายงานสถานการร์ผ่านช่องโทรทัศน์ของรัฐบาล ที่ใช้รายงานสด เกี่ยวกับข้อมูลโควิด-19 ว่าส่วนไหน พื้นที่ได้มีปัญหา จะได้ช่วยกันประสานงานได้ทันที อีกด้าน คือ เรื่องการบริจาค ซึ่งเจอกับตัวว่าอยากจะบริจาค แต่มันกลับไม่มีสถานที่ให้บริจาค ต้องผ่านองค์กรเอกชนอื่นๆแทน ดังนั้นควรให้ตั้งรับบริจาคกับศูนย์นี้โดยตรงไปเลย แล้วช่วยทำการกระจายสิ่งของหรือความช่วยเหลือต่อไป ถ้าทำเช่นนี้ เราจะได้อะไรจาก ศบค. อีกเยอะแยะ จึงเห็นด้วยว่าให้ยุบ ศบค. และปรับรูปแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพกว่านี้

 

 

 

ส่วนเรื่องของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งมาตรา 5 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่จะให้สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ ต้องถามก่อนว่า ที่จริงแล้วรัฐบาลใช้พ.ร.ก.ฉบับนี้ มาใช้แก้ปัญหาอะไร จะมาช่วยเสริมในเรื่องมาตรการควบคุมโควิด-19 การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกันแน่ ในการช่วยลดการรวมตัวชุมนุมทางการเมือง ซึ่งสรุปแล้วก็ไม่สามารถแก้ทั้งสองเรื่องนี้ได้เลย การชุมนุมยังเกิดขึ้นเป็นรายวัน จำนวนผู้ชุมนุมเยอะแยะไปหมด ด้านตำรวจเองก็จับกุมผู้ชุมนุม โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคระบาดมาจับแทน

 

 

ดังนั้น การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับดังกล่าว เห็นด้วยว่าดี เพราะที่ผ่านมา พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นอุปสรรคกับภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะมีประกาศ พ.ร.ก และ การเคอร์ฟิว หากเกิดการระบาดของโควิด-19ที่หนักมากจริงๆก็ควรใช้ แต่ไม่ควรใช้ลากยาวแบบในปัจจุบันนี้ รวมทั้งมีการบังคับใช้ในพื้นที่กว้างเกินไป ทำให้งานด้านขนส่งลำบาก คนที่ต้องทำงานกลางคืนจะกลับบ้านอย่างไร ดังนั้นยกเลิกไปจะดีกว่า

 

 

การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว จะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ เห็นได้จากตัวเลขตลาดแรงงาน ที่มีสัญญาณการฟื้นตัว โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ตั้งแต่ ในเดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนแรงงานจดทะเบียนในประกันสังคม ตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 11,127,233 คน ถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 และมีจำนวนใกล้เคียงกับในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งทำให้เห็นว่า ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจำนวนการจ้างงานกำลังจะเพิ่มขึ้น

 

 

แต่ในเชิงจำนวนนั้นไม่เยอะมาก โดยมียอดของผู้เข้าประกันสังคมมาตรา 33 ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา เพียง 77,720 คน ทำให้เห็นเป็นสัญญาณการเพิ่มขึ้น คิดเป็น 0.64% ของแรงงานทั้งหมดในมาตรา 33 ถ้าเปรียบเทียบกับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 มีคนหายไปจากระบบแรงงาน ในมาตรา 33 ถึง 607,118 คน ลดลงไป 5.14% ของแรงงานทั้งหมดในมาตรา 33 จึงสะท้อนว่าตลาดแรงงานมีการฟื้นตัว แต่เป็นแบบช้าๆ

 

 

 

ดังนั้นการคลายล็อกดาวน์ หรือการปรับรูปแบบของ ศบค. รวมทั้งการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะช่วยทำให้ กลุ่มคนว่างงาน 740,000 หรือ คิดเป็น 1.9% และกลุ่มคนเสมือนว่างงาน 3,530,000 คน 9% ระบบแรงงาน (ข้อมูลในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงแรงงาน) มีโอกาสกลับเข้าสู้ระบบแรงงานได้มากยิ่งขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง