รีเซต

"โดมิโน เอฟเฟ็กต์" ศึกชิงนายก อบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง-แพ้ไม่ได้

"โดมิโน เอฟเฟ็กต์" ศึกชิงนายก อบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง-แพ้ไม่ได้
TNN ช่อง16
20 พฤศจิกายน 2567 ( 15:52 )
12

การปรากฏตัวของนายทักษิณ ชินวัตร และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ บนเวทีปราศรัย จังหวัดอุดรธานี เพื่อช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครฯ ชิงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ในช่วงโค้งสุดท้ายได้เปลี่ยนบรรยากาศให้สนามการเมืองท้องถิ่นกลายเป็นเวทีการเมืองระดับชาติ   ทำไมคีย์แมนทางการเมืองทั้ง 2 ฟากฝั่งจากพรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน ต่างให้ความสำคัญกับศึกเลือกตั้งครั้งนี้ และ การแพ้-ชนะในศึกครั้งนี้มีนัยสำคัญอย่างไร 


นั่นเป็นเพราะผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจทำให้เกิด “โดมิโนเอฟเฟ็กต์” ทางการเมือง ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนกับการเมืองในระดับภูมิภาค และ ระดับชาติ  การเมือง 2 ฝั่ง จึงหวังปักธงการเมืองให้ได้ในจังหวัดอุดรธานี


รศ.ดร.ยุทธพร อิสระชัย ผู้เชี่ยวชาญการเมืองท้องถิ่น และ รองศาสตราจารย์ประจำสาขารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช  มองว่าแม้ทั้งพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน จะมีเป้าหมายในการเล็งเห็นผลทางการเมืองที่เหมือนกัน แต่ก็มีปัจจัยในการสู้ศึกที่ต่างกัน 


สำหรับพรรคประชาชน แม้จะเป็นสนามที่สองที่มีการส่งผู้สมัครในนามพรรคฯ ลงชิงตำแหน่งนายก อบจ.อย่างเป็นทางการ ต่อจากศึกชิงนายก อบจ.ราชบุรี แต่หากดูในข้อมูลจะพบว่าในหลายสนามก็เป็นเครือข่าย หรือ เป็นผู้ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. และ คนจากพรรคประชาชน (ก้าวไกลเดิม ) ที่เปิดตัวให้การสนับสนุน และการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็ใช้ “สีส้ม” เป็นสัญลักษณ์


โดยหากดูจากผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่มีการเลือกตั้งไปแล้ว 18 จังหวัด พบว่าผู้คว้าชัยชนะส่วนใหญ่ล้วนเป็นอดีตนายก อบจ.สายบ้านใหญ่ หรือ ถ้าเป็น นายก อบจ.หน้าใหม่ ก็มักพบความเชื่อมโยงกับเครือข่ายบ้านใหญ่เช่นกัน


ไม่น่าเชื่อว่าชัยชนะในการเมืองระดับชาติที่ “ประชาชน” สามารถพลิกชนะ “บ้านใหญ่” ได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ถ้าเป็นพื้นที่เดียวกันเมื่อปรับมาเป็นสนามการเมืองท้องถิ่น ทำไมกลับได้ผลผลัพธ์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง 


รศ.ดร.ยุทธพร ไขสาเหตุเรื่องนี้ว่าผลลัพธ์ทางการเมืองที่แตกต่างของพรรคประชาชนมาจาก 3 ปัจจัย คือ 


1.กติกาการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น "ไม่เหมือน" การเลือกตั้งระดับชาติ (เลือกตั้ง สส.) 

เพราะการระดับชาติ มีการเปิดให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้า แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มี ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมักจะมีผู้มาใช้สิทธิ์อยู่ราว ๆ  ร้อยละ 60 ทำให้ผลการเลือกตั้งมักขึ้นอยู่กับคะแนนจัดตั้ง ที่มาจากครือข่ายการเมือง คนใกล้ชิด หรือ ญาติ ที่มีน้ำหนักสูงกว่าการเลือกด้วยความเห็นส่วนบุคคล 


2.การชูนโยบายของที่ถูกใจการเมืองระดับชาติ แต่ไม่ "ทัชใจ" คนท้องถิ่น 

การเลือกนายก อบจ. ประชาชนมักต้องการคนที่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของเขาได้  แต่พรรคประชาชน เน้นจับการเมืองระดับชาติ เช่น เรื่องการแก้ไข รธน. , การนิรโทษกรรม ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่ดูไกลตัว


3.เป้าประสงค์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่เหมือนระดับชาติ  

การเลือกตั้งระดับชาติโหวตเตอร์จะตั้งใจเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือ เลือกพรรคที่มีความเป็นไปได้ที่จะร่วมเป็นรัฐบาล เพราะหวังผลในเชิงนโยบาย กระแสของพรรคจึงมีผลต่อเป้าประสงค์ของโหวตเตอร์ แต่สำหรับเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละพื้นที่  รวมถึงคะแนนนิยมในตัวบุคคลที่ลงสมัคร 


แม้ทั้ง 3 ปัจจัยจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่พรรคประชาชนยังไม่สามารถฝ่าไปได้ แต่ในศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ. อุดรธานี ถือเป็นศึกที่แพ้ไม่ได้ เพราะอาจส่งผลต่อการเมืองภาพใหญ่ที่ส่งผลต่อคะแนนนิยม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่มีจำนวน สส.มากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์แบบ “ดับเครื่องชน” และ ได้เห็นการกลับไปเล่นการเมืองแบบเก่าที่ใช้การ "สาดโคลน" เข้าใส่คู่ต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะเวทีปราศรัยในช่วงโค้งสุดท้าย ที่มีทั้ง “พิธา-ชัยธวัช” ก็มีการปราศรัยเนื้อหาที่โจมตีไปยังผู้สมัคร รวมไปถึงผู้ช่วยหาเสียงเช่น “ทักษิณ” แบบจัดหนัก จัดเต็ม 


ขณะที่ฟากฝั่งเพื่อไทยเอง ที่เห็นคีย์แมน “ทักษิณ” ลงมาช่วยหาเสียง ก็สะท้อนถึงการให้น้ำหนักกับสนามเลือกตั้งนี้เช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญการเมืองท้องถิ่น เชื่อว่าการาปรากฏตัวของ “ทักษิณ” เพื่อเป็นการแสดงถึงพลังทางการเมือง และ ความนิยมในภูมิภาคอีสาน เพื่อหวังดึงกลุ่มการเมือง “บ้านใหญ่” ในจังหวัดภาคอีสานให้หวนคืนซุ้ม “เพื่อไทย” ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมศึกเลือกตั้งสนามใหญ่ในอีก 2 ปี ข้างหน้า 

 

ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นระหว่าง “คณิศร ขุริรัง” น้องใหม่ จากพรรคประชาชน กับ “ศราวุธ เพชรพนมพร” อดีตนายกอบจ. 4 สมัย จากพรรคเพื่อไทย จึงไม่ใช่เพียงการชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี เท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ระหว่าง 2 ขั้วการเมืองที่เข้มข้น ซึ่งหากใครได้รับชัยชนะก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะปักธงการเมืองในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญอย่างภาคอีสานได้สำเร็จ   


ผลการเลือกตั้ง 24 พ.ย.นี้ จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะคือศึกสำคัญที่ “ต่างคน ต่างแพ้ไม่ได้”  


Exclusive Content  By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNNOnline 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง