รีเซต

สธ.พร้อมรับมือหาก "โควิด-19" ระบาดระลอก 2 สัปดาห์หน้าจับตา "ผู้ป่วย"

สธ.พร้อมรับมือหาก "โควิด-19" ระบาดระลอก 2 สัปดาห์หน้าจับตา "ผู้ป่วย"
มติชน
4 พฤษภาคม 2563 ( 16:49 )
210
1

สธ.พร้อมรับมือหาก “โควิด-19” ระบาดระลอก 2 สัปดาห์หน้าจับตา “ผู้ป่วย” แนะทุกฝ่ายทบทวนมาตรการเดิม

โควิด-19 กรณีที่ประชาชนมีความกังวลว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทยจะกลับมาแพร่ระบาดระลอกที่ 2 และอยากจะให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงมาตรการรองรับหากมีการระบาดนั้น

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐบาล และภาคประชาชนจะต้องร่วมมือกัน เนื่องจากเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการในการเปิดกิจการ 6 ประเภทเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม จึงทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะพบปะกันมากขึ้นในขณะที่เข้าใช้บริการ

“ดังนั้น มาตรการพื้นฐานและมาตรการจำเพาะ ที่ภาคเอกชนและภาครัฐบาลร่วมกันดำเนินงานภายใต้การร่วมมือของประชาชนในปฏิบัติตามคำแนะนำ ตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นการแพร่ระบาดของโรคอีกครั้ง คือ การเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ที่ไม่ได้มีแค่เพียงโรคโควิด-19 เช่น โรคไข้หวัดใหญ่” นพ.โสภณ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้านี้สิ่งที่จะต้องปฏิบัติ คือ 1.หน่วยงานต่างๆ จะเฝ้าระวังโรคที่ติดต่อระบบทางเดินหายใจ โดยจะต้องตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุในการเกิดโรค ติดตามดูจำนวนของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากจำนวนที่ส่งตรวจและคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 2.ดูจากพฤติกรรมประชาชนที่ยังมีการป้องกันตนเองอย่างเข้มงวดหรือไม่ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่างทางสังคม 3.จำนวนผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ที่มีการกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ต่อไป และต้องรีบค้นหาสาเหตุ ทบทวนดูว่ามาตรการใดที่มีจุดอ่อนเพื่อจะได้เสริมมาตรการให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

“ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องจับตาดูสถานการณ์ เพราะเป็นสิ่งที่เราจะต้องประมวลผลเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีผู้ป่วยอยู่ในสถานพยาบาลน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมและเมษายน ทางหน่วยงานภาครัฐจึงได้มีการทบทวนมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการเฝ้าระวัง มาตรการในการป้องกันควบคุมโรค มาตรการดูการป้องกันโรคติดเชื้อในสถานพยาบาล และระบบการดูแลรักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยอาการน้อย ผู้ป่วยอาการปานกลางและผู้ป่วยอาการวิกฤต ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่เกิดการระบาดในอนาคต หากเกิดขึ้นก็จะมีการเตรียมการรองรับไว้” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า หากมีสัญญาณว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย ในส่วนของยาสำหรับการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ การใช้ยาต้านไวรัส ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อุปกรณ์การส่งตรวจจะต้องมีการจัดหาให้เพียงพอ เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้หากมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยในระยะต่อไป รวมทั้งมาตรการที่จะดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานอื่น ที่ไม่ใช่มาตรการทางสุขภาพโดยตรง เช่น การจัดการสถานที่กิจการให้บริการต่างๆที่ต้องเพิ่มความเข้มงวด การลดความแออัด ลดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ ขอให้มั่นใจว่าจำนวนผู้ป่วยที่น้อยลงในระยะนี้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการวางแผนเพื่อเตรียมรับมือ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทำให้ดีที่สุดเพื่อป้องกันโรคไม่ให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ก็จะไม่สูญเสียเสียทรัพยากรในการควบคุมโรค และจำนวนป่วยไม่มากขึ้น ขอให้ประชาชนดำเนินการตามมาตรการต่างๆต่อไปอย่างเคร่งครัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง