รีเซต

'เอนก' สั่ง อว. เปิดโรงพยาบาลสนามทุกจังหวัด 7,530 เตียง รับผู้ป่วยโควิด-19

'เอนก' สั่ง อว. เปิดโรงพยาบาลสนามทุกจังหวัด 7,530 เตียง รับผู้ป่วยโควิด-19
ข่าวสด
12 เมษายน 2564 ( 15:43 )
108

'เอนก' รมว.อว. สั่งมหาวิทยาลัยทุกจังหวัดทั่วประเทศ เปิดโรงพยาบาลสนาม 7,530 เตียง รับผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

 

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสนามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้เปิดใช้งานแล้ว 470 เตียงเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยได้เริ่มเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อที่ผ่านการสังเกตอาการและคัดกรองแล้วจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโรงพยาบาลต่างๆ เข้ามา ซึ่งทำให้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถจะรับผู้ติดเชื้อได้ รวมทั้งโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ อ.บางพลี สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เตรียมไว้ที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ก็กำลังขยายที่จะรับการส่งต่อสำหรับผู้ป่วยหนักที่ต้องการดูแลอย่างใกล้ชิด

 

นายเอนก กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนยังสั่งการให้ทุกมหาวิทยาลัยเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมขึ้นอีกทุกแห่ง ทุกจังหวัด และให้ประสานงานโดยทันทีกับทางจังหวัด สาธารณสุขในพื้นที่ และดำเนินการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงได้ ที่สำคัญให้อธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยรายงานสถานการณ์ในพื้นที่มายังศูนย์ปฏิบัติการและบริหารการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ของกระทรวง อว. (ศปก.อว.) เพื่อการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

ด้าน นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อว. ซึ่งมีมหาวิทยาลัยในความดูแลทั่วประเทศนั้น มีคณะแพทยศาสตร์จำนวนถึง 22 แห่ง มีโรงพยาบาลหลักที่มีจำนวนเตียงรวมกันกว่า 17,426 เตียง เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาลัยนเรศวร เป็นต้น พร้อมรับผู้ป่วยโรคต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการรุนแรง

 

นพ.สิริฤกษ์ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยได้ร่วมเข้ามาบริหารสถานการณ์โควิดกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด โดยเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยหรือ UHOSNET นี้ ประชุมร่วมกันในศูนย์ปฏิบัติการฉุกเเฉินทุกวัน ทั้งนี้ โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งมีจำนวนเตียงเกือบสองหหมื่นเตียงนี้ ได้เลื่อนการบริการที่สามารถจะชะลอได้ เพื่อเตรียมกำลังไว้รองรับการส่งต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

 

"ผู้ติดเชื้อโรคโควิดในรอบการระบาดครั้งนี้ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก จะมีเฉพาะจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดมาก ซึ่ง อว. ได้จัดเตรียมทั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ติดเชื้อ และโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์สำหรับผู้ป่วยหนัก ขณะนี้กระทรวง อว. ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้แล้วกว่า 7,530 เตียง ซึ่งมีการประสานงานในภาพรวมของประเทศด้วยแล้ว" ปลัด อว.กล่าว

 

สำหรับโรงพยาบาลสนามในเครือข่ายของ อว. ที่พร้อมดำเนินการมี 23 แห่ง จำนวน 7,530 เตียง ได้แก่

 

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
1. มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 470 เตียง
2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จำนวน 470 เตียง
3. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันนทา ที่ศูนย์สมุทรสงคราม จำนวน 50 เตียง
4. มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จำนวน 360 เตียง

 

ภาคกลาง
5. มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ที่ศูนย์การศึกษา อ.เดิมบางนางบวช จำนวน 100 เตียง
9. มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่หอพักนักศึกษา จำนวน 50 เตียง
7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สุวรรณภูมิ ที่หอประชุมใหญ่ จำนวน 350 เตียง

 

ภาคเหนือ
8. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่หอพักหญิง 5 จำนวน 100 เตียง
9. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์แม่ฟ้าหลวง จำนวน 200 เตียง
10. มหาวิทยาลัยพะเยา ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา จำนวน 80 เตียง
11. มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่โรงพยาบาลพระพุทธชินราช จำนวน 40 เตียง
12. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 420 เตียง
13. มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ที่หอประชุม จำนวน 800 เตียง

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
14. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 240 เตียง
15. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 72 เตียง
16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่อาคาร 80 พรรษา จำนวน 200 เตียง
17. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านยางน้อยจำนวน 1,030 เตียง
18. มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่อาคารพนมพิมานและหอพักนักศึกษาจำนวน 320 เตียง
19. มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ที่หอประชุมใหญ่ อาคารเอนกประสงค์ และหอพักนักศึกษา จำนวน 638 เตียง

 

ภาคใต้
20. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จำนวน 750 เตียง
21. มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่อาคารโกเมน จำนวน 110 เตียง
22. มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่สำนักส่งเสริมบริการวิชาการและภูมิปัญญาพนางตุง จำนวน 500 เตียง
23. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่โรงพยาบาลท่าโนงข้าง อ.พุนพิน โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ อ.พุนพิน และโรงพยาบาล สต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย รวมจำนวน 180 เตียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง