รีเซต

ฝ่าวิกฤต "โควิด-19" บ้านพัก "เราไม่ทิ้งกัน" เพื่อคนไร้บ้าน แก้ปัญหา หรือซ้ำเติม

ฝ่าวิกฤต "โควิด-19" บ้านพัก "เราไม่ทิ้งกัน" เพื่อคนไร้บ้าน แก้ปัญหา หรือซ้ำเติม
มติชน
15 เมษายน 2563 ( 10:24 )
135

ฝ่าวิกฤต “โควิด-19” บ้านพัก “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อคนไร้บ้าน แก้ปัญหา หรือซ้ำเติม

เราไม่ทิ้งกัน – ตกเป็นจำเลยสังคมมาตลอดกับ “คนเร่ร่อน-คนไร้บ้าน-คนตกงาน” ซึ่งถูกเหมารวมในนิยาม “ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” เพราะเดินไปไหนเนื้อตัวมอมแมม บ้างก็หอบหิ้วสิ่งของพะรุงพะรัง แลดูไม่สะอาดในสายตาคนทั่วไป เมื่อเจอจึงพากันถอยห่าง

ยิ่งในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ทางการแพทย์แนะนำให้เว้นระยะห่างทางสังคม และให้ทุกคนรักษาความสะอาดอย่างสูงสุด ชีวิตของคนเร่ร่อน-คนไร้บ้าน ก็ยังมีชะตากรรมที่สุดลำบากยิ่งไปอีก ไม่มีบ้านให้กลับ ท่ามกลางมาตรการ “อยู่บ้าน เพื่อชาติ”

 

ไม่มีขยะให้เก็บขาย-รายได้ไม่มี

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เอ็นจีโอที่ทำงานช่วยเหลือดูแลคนเร่ร่อน เล่าว่า ชีวิตคนเร่ร่อนช่วงนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะประกาศต่างๆ เพื่อสกัดไวรัสโควิด-19 กระทบกับเขาโดยตรง อย่างการที่ทุกคนกักตัวเองอยู่บ้าน ลดการใช้ชีวิตในที่สาธารณะ และทุกอย่างปิดหมด ทำให้อาหาร เศษอาหาร และงานรับจ้างทั่วไปที่คนเร่ร่อนเคยหาได้ ต้องลดน้อยลง หรือหาไม่ได้เลย ส่วนการจะไปขอที่วัดช่วงนี้ ก็ทำไม่ได้

“คนเร่ร่อนที่เก็บขยะขาย เดิมเขาเคยเก็บขยะขายได้วันละ 400-500 บาท แต่ตอนนี้เก็บได้ไม่ถึงวันละ 100 บาท เพราะในถังขยะไม่มีขวด ไม่มีกระดาษ กระทบหมดทั้งคนเร่ร่อนในเมืองและภูมิภาค”

 

เปิดสถิติ “คนไร้บ้าน”

ย้อนดูสถิติคนไร้บ้านล่าสุด ซึ่งสำรวจในปี 2562 โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่าย ด้วยวิธีการแจงนับ (Counting) หรือการสำรวจแต่ละพื้นที่ในคืนเดียว เพื่อลดความเสี่ยงการนับซ้ำคนไร้บ้าน

พบคนไร้บ้านทั่วประเทศทั้งสิ้น 2,719 คน แบ่งเป็นเพศชาย ร้อยละ 86 และเพศหญิง ร้อยละ 14

งานสำรวจดังกล่าว ยังค้นพบช่วงอายุคนไร้บ้านส่วนใหญ่ อยู่ระหว่าง 40-59 ปี หรือเรียกว่าวัยแรงงานตอนปลาย คิดเป็นร้อยละ 57 รองลงมาคือ วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 18 ทั้งนี้ คนไร้บ้านสูงอายุ ยังมีสัดส่วนการอยู่คนเดียวถึงร้อยละ 60 สะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีที่พึ่งพิง ขณะเดียวกันข้อมูลจากสถานการณ์โควิด-19 ก็พบกลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราเสียชีวิตกว่าช่วงอายุอื่นๆ

 

ห่วงอดตายไม่มีกิน

จากข้อมูลข้างต้น เมื่อนำมาเชื่อมโยงกัน เริ่มทำให้เห็นภาพคนเร่ร่อนมีความเสี่ยงมากในสถานการณ์นี้ และจากการลงพื้นที่ช่วยเหลือดูแลคนเร่ร่อนหลายพื้นที่ อัจฉราบอกว่า คนเร่ร่อนต่างรับทราบถึงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดแล้ว แต่ไม่ได้ตระหนัก และไม่ได้คิดว่าจะต้องดูแลตัวเองมากกว่าเดิมเท่าไหร่

อัจฉราเล่าอีกว่า จริงๆ คนเร่ร่อนสะท้อนเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า โดยเฉพาะห่วงเรื่องจะไม่มีกิน จะอดตาย ส่วนเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องรองของเขา อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่าพบคนเร่ร่อนติดเชื้อโควิด-19 อาจเพราะพวกเขาต่างมีโรคประจำตัวเดิมอยู่แล้ว เช่น วัณโรค เลยไม่ได้สังเกตอาการตัวเอง

ขณะเดียวกันหากติดเชื้อจริง พวกเขาก็ไม่กล้าไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแน่นอน เพราะลำพังในสถานการณ์ปกติ เขาก็ไม่กล้าไปอยู่แล้ว อาจด้วยถูกจัดเป็นพลเมืองชั้น 2-3 ที่เข้าไม่ถึงสิทธิและบริการฟรีจากรัฐ ขณะที่บางโรงพยาบาลก็ปฏิเสธที่จะให้บริการคนเร่ร่อนอีกด้วย

เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อของคนเร่ร่อน ที่ยังมีความจำเป็นต้องออกไปดิ้นรนเอาชีวิตรอด สิ่งที่จะช่วยพวกเขาได้คือ การให้ความรู้ดูแลตัวเอง ให้อุปกรณ์ป้องกัน อย่างหน้ากากผ้าแจกคนละ 2-3 ผืน ตลอดจนอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้สนับสนุนสิ่งของบริจาคมาให้มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา และภาคีเครือข่าย ร่วมแจกคนเร่ร่อนในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ ถือเป็นมาตรการที่ช่วยคนเร่ร่อนได้บ้าง

 

มาตรการรัฐ “ช่วย” หรือ “ซ้ำเติม”

ล่าสุด นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ยังได้ประกาศโครงการเราไม่ทิ้งกัน ในการให้บริการที่พักสะอาด อาหาร 3 มือ บริการทางการแพทย์ตรวจเช้าเย็น ไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับคนไร้ญาติ และคนตกงานในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงกลุ่มคนเหล่านี้ติดเชื้อ และสร้างความมั่นใจให้สังคม โดยมีบ้านพัก 5 แห่ง รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล รองรับได้ประมาณ 1,400 คน

ฉัจฉรามองว่า โครงการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวง พม.ยังมีความไม่ชัดเจนหลายอย่าง จนทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือซ้ำเติมคนกลุ่มนี้กันแน่

เธอตั้งข้อสงสัยและวิเคราะห์ตั้งแต่กายภาพ ที่ 5 บ้านพักรองรับคนได้สูงสุด 1,400 คน เฉลี่ยได้แห่งละประมาณ 280 คน ตรงนี้จะจัดการเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing ได้อย่างไร เพราะทราบจากประชุมร่วมกับ พม.ก่อนหน้านี้ พบว่าแต่ละแห่งรองรับได้เพียง 100 คนเท่านั้น และเคยตกลงจะรับเฉพาะกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น ครอบครัวที่มีเด็ก คนชรา เป็นต้น

ทั้งนี้ ระบบคัดกรองจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะไม่งั้นก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงคนเร่ร่อนที่อยู่เดิม ด้วยการเอาคนใหม่ๆ ไปอยู่รวมกันเท่านั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการกวาดจับ ขณะเดียวกันได้สื่อสารทำความเข้าใจมากพอ กับชุมชนรอบบ้านพักหรือยัง เพราะลำพังก็มีทัศนคติเชิงลบกับคนเร่ร่อนอยู่แล้ว

 

เสนอรัฐจัดที่พักพิงชั่วคราว

ในมุมมองคนทำงาน เธอเสนอให้ตรึงคนเร่ร่อน คนไร้บ้านอยู่กับพื้นที่ เพราะการอยู่อาศัยในที่พักแบบเปิดโปร่ง มีความปลอดภัยกว่า หรือพาไปอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราว เช่น ตึกร้าง ที่มีการคัดกรอง จัดโซนนิ่ง และการดูแลต่างๆ แทนการนำไปอยู่ตามศูนย์ของ พม.ที่จะไปเพิ่มความเสี่ยงผู้อยู่เก่า โดยรัฐจะต้องเป็นผู้สนับสนุน ภาคมูลนิธิก็พร้อมร่วมมือทำงาน

“ตอนนี้คนเร่ร่อน เข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาโควิด-19 ใดๆ จากรัฐเลย บางคนยังตกหล่นแม้กระทั่งคำว่าคนจน ในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐด้วยซ้ำ และจากสถานการณ์นี้ที่ทำให้หลายคนต้องตกงาน เชื่อว่าจะทำให้เกิดคนเร่ร่อน มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอนาคต”

“ฉะนั้น ก็อยากให้หน่วยงานรัฐคิดเร็วทำเร็ว แก้ปัญหาในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ก็ต้องเตรียมพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตด้วย” อัจฉรากล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง