รีเซต

ทรัมป์กดดัน Apple ย้ายฐานผลิตกลับสหรัฐฯ iPhone เมดอินอเมริกาทำได้หรือไม่ ?

ทรัมป์กดดัน Apple ย้ายฐานผลิตกลับสหรัฐฯ iPhone เมดอินอเมริกาทำได้หรือไม่ ?
TNN ช่อง16
16 พฤษภาคม 2568 ( 14:08 )
21

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเรียกร้องให้บริษัท แอปเปิล (Apple) หยุดแผนการย้ายฐานการผลิต iPhone ไปยังประเทศอินเดีย พร้อมทั้งผลักดันให้บริษัทกลับมาลงทุนในสหรัฐฯ อย่างจริงจัง การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการฟื้นฟูอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐ และการลดการพึ่งพาจีนในห่วงโซ่อุปทานโลก

แม้ว่าในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยแรก ประธานาธิบดีทรัมป์จะเคยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับอินเดีย โดยสนับสนุนการลงทุนของบริษัทอเมริกันในประเทศดังกล่าว แต่ในกรณีของ Apple ทรัมป์กลับแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการย้ายฐานการผลิต iPhone จากจีนไปยังอินเดีย โดยเรียกร้องให้บริษัทนำการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ แทน 

นักวิเคราะห์อาวี กรีนการ์ต (Avi Greengart) จากบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี Techsponential ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC News ว่า "จุดยืนที่ดูย้อนแย้งนี้สะท้อนถึงแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่ากลยุทธ์เศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่อง โดยเน้นการฟื้นฟูอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อดึงดูดฐานเสียงของกลุ่มแรงงานในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป" และอาจสะท้อนถึงความพยายามในการส่งเสริมการผลิตภายในประเทศและลดการพึ่งพาต่างประเทศของสหรัฐฯ

Apple กับแผนกระจายการผลิตนอกประเทศจีน

ภายใต้นโยบายสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน บริษัท Apple เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเร่งกระจายสายการผลิต iPhone และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ออกจากประเทศจีนซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากบริษัทต้องเผชิญกับความตึงเครียดทางการค้าและการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ การย้ายฐานผลิตไปยังอินเดียจึงกลายเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำกว่าและลดผลกระทบด้านภาษี

สหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ เคยเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนสูงถึง 125% แต่ยกเว้นสินค้าสำคัญ เช่น โทรศัพท์มือถือ ชิป และคอมพิวเตอร์ ทำให้ดูเหมือนบริษัท Apple จะรอดจากภาระภาษีในระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้บริษัทต้องพร้อมที่จะปรับตัวและกระจายความเสี่ยงอยู่เสมอ

ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นเดือนว่า Apple ประกาศถึงแผนการเปลี่ยนแปลงแหล่งผลิต iPhone โดยซีอีโอ ทิม คุก (Tim Cook)  “iPhone ส่วนใหญ่ที่ขายในสหรัฐฯ จะมีอินเดียเป็นประเทศต้นกำเนิด” เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรที่สูงจากจีน

นอกจากนี้ Apple ยังยืนยันถึงแผนการในปี 2025 ที่บริษัทจะจัดหาชิปมากกว่า 19,000 ล้านชิ้น จากแหล่งผลิตใน 12 รัฐของอเมริกา รวมถึงชิปขั้นสูงหลาย 10 ล้านชิ้น ที่ผลิตในรัฐแอริโซนาในปีนี้ และแผนจัดหากระจกที่ใช้กับสมาร์ตโฟน iPhone จากบริษัทในสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบายของทรัมป์

ผลกระทบต่อประเทศไทย 

แม้ไทยจะเป็นหนึ่งในฐานการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์สินค้าของ Apple เช่นเดียวกับเวียดนามและมาเลเซีย แต่ยังถูกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราสูง เช่น ไทย 36%, เวียดนาม 46% และมาเลเซีย 24% ส่งผลให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยอาจเสียเปรียบในตลาดอเมริกา การเปลี่ยนฐานผลิตหรือปรับซัพพลายเชนอาจกระทบต่อภาคการส่งออกและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทย หาก Apple ปรับโครงสร้างต้นทุน ต้นทุนเหล่านี้จะถูกส่งผ่านมายังผู้บริโภคในไทย ทำให้ราคา iPhone ในไทยอาจเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มต้นทุนโลก

อุปสรรคต่อแนวคิด “iPhone เมดอินอเมริกา”

แนวคิดการนำการผลิตกลับสหรัฐฯ จะฟังดูดีในเชิงการเมืองและสร้างงานในประเทศ แต่นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า “ความจริงทางเศรษฐกิจ” อาจขัดแย้งกับความตั้งใจนี้อย่างรุนแรง

1. ต้นทุนแรงงานสูง การผลิต iPhone ในสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับค่าจ้างแรงงานที่สูงมากเมื่อเทียบกับเอเชีย และยังมีต้นทุนแฝงอีกมาก เช่น มาตรฐานความปลอดภัย การคุ้มครองแรงงาน และภาษีท้องถิ่น

2. โครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม นักวิเคราะห์อาวี กรีนการ์ต (Avi Greengart) จากบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี Techsponential ให้สัมภาษณ์กับ ABC News ว่า “มันเป็นห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่น่าทึ่งมาก หากคุณต้องการย้ายมันไปยังสหรัฐอเมริกา คุณอาจต้องใช้เวลาหลายปี อาจเป็นหลายทศวรรษ”

3. ผลกระทบต่อผู้บริโภค ถ้าหาก Apple ย้ายฐานผลิตกลับมาสหรัฐฯ จริง นักวิเคราะห์คาดว่าราคาขายปลีกของ iPhone อาจพุ่งขึ้นสูงถึง 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 125,000 บาท) ทำให้ผู้บริโภคอาจหันไปหาทางเลือกที่ถูกกว่าในตลาด

แดน ไอฟส์ (Dan Ives) กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีระดับโลกของบริษัท Wedbush Securities ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการทางการเงินเอกชนที่มีสำนักงานใหญ่ในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ประเมินว่าการย้ายการผลิต iPhone เพียง 10% กลับสหรัฐฯ อาจใช้เวลา 3 ปี และต้องใช้เงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.095 ล้านล้านบาท

ในโลกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความฝันเรื่อง “iPhone เมดอินอเมริกา” อาจยังอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง แต่การถกเถียงระหว่างนโยบายการเมืองกับโครงสร้างเศรษฐกิจระดับโลกสะท้อนให้เห็นว่า ห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลกเชื่อมต่อกัน การค้าขายที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ของประเทศต่าง ๆ คำถามสำคัญจึงไม่ใช่แค่ “ผลิตที่ไหน” แต่คือ “ผลิตอย่างไรให้โลกเดินไปข้างหน้าได้พร้อมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง