เปิด 3 เงื่อนไขยกเลิก มาตรา 272 "ปิดสวิตช์ ส.ว." ทำได้ยากง่ายอย่างไร
พรรคก้าวไกล เดินเกมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เงื่อนไขของการปิดสวิตช์ ส.ว. ว่าทำได้ยากง่ายอย่างไร
พรรคก้าวไกล เดินเกมปิดสวิตช์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีกครั้ง ด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ภายหลังพบส.ว. เป็นอุปสรรคสำคัญในการโหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอบแรก เงื่อนไขของการปิดสวิตช์ ส.ว. ว่าทำได้ยากง่ายอย่างไร จากการรวบรวมกติกาในเรื่องนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 272 ประกอบไปด้วย 2 วรรค โดยวรรคแรกกำหนดให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.( ทั้ง 250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ ส่วนวรรคสองเป็นการเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรี “คนนอก” บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งก่อนการเลือกตั้งได้
ความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลที่เตรียมยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 272 เพื่อเป็นการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรีในรอบที่ 2 นั้น จะต้องดำเนินการตาม 3 เงื่อนไข คือ
เงื่อนไขแรก
ต้องได้เสียงโหวตข้างมากของรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง หมายความว่า ต้องมีทั้งเสียงส.ส. และ เสียง ส.ว.ยกมือเห็นชอบ ให้ยกเลิกแก้ไขรวมกันตั้งแต่ 375 เสียง จากปัจจุบันมีสมาชิก 749 คน ขณะที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยังขาดเสียงอีก 63 เสียง
ดังนั้น ต้องลุ้นว่าเสียงของ ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ว. บางส่วน ที่ก่อนหน้านี้อ้างว่าต้องการปิดสวิตช์ตัวเองด้วยการงดออกเสียงจะเห็นชอบหรือไม่
เงื่อนไขที่ 2
ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 เสียง ต้องให้ความเห็นชอบ หมายความว่า ในจำนวนเสียงที่ให้ความเห็นชอบ 375 เสียง จะต้องมีเสียงส.ว. ให้ความเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนส.ว.ทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 83 เสียง จาก ส.ว. ปัจจุบัน 249 คน
ดังนั้น แม้ ส.ส.ทั้งสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นชอบ แต่หากเสียง ส.ว. ไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่สามารถแก้ไขได้
และอีกเงื่อนไขสำคัญ
คือ ส.ส. ฝ่ายค้านจะต้องเห็นชอบอย่างน้อยร้อยละ 20 ปัจจุบัน ส.ส.ที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน มี 188 คน หมายความว่า ต้องได้เสียงจาก ส.ส. กลุ่มนี้อย่างน้อย 38 คน โหวตเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 272
ดังนั้น เงื่อนไขทั้งหมดนี้ จึงเป็นโจทย์ยากสำหรับพรรคก้าวไกล เพราะนอกจากจะต้องรวมเสียงทั้งสามส่วนของรัฐสภาให้เป็นกลุ่มก้อน เอกภาพ 375 เสียง แล้ว การที่จะได้เสียง ส.ว. 83 คน มาเปิดสวิตช์ตัวเอง รวมกับฝ่ายค้านอีก 38 เสียง ถือว่ามีจำนวนไม่น้อย
หากย้อนสถิติการดำเนินการปิดสวิตช์ ส.ว. เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องที่หลายกลุ่มการเมืองเห็นพ้องกันว่า ควรต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากการปล่อยให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยมีความพยายามยื่นปิดสวิตช์ ส.ว. มาแล้วถึง 7 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับเสียง ส.ว. โหวตให้ผ่านเลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับเสียงโหวตเกินครึ่งของรัฐสภาแล้วก็ตาม
ข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. 5 ครั้งแรก เสนอให้ตัด มาตรา 272 ทั้งมาตรา หรือ ยกเลิกอำนวจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และกลไกที่จะทำให้มี นายกรัฐมนตรีคนนอก แต่ก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียดการแก้ไข มาตรา 159 ในขณะที่การยื่นข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ครั้งที่ 6 เสนอให้ตัดเพียงวรรคแรกของ มาตรา 272 คือให้ตัดอำนาจ ส.ว. แต่งตั้ง ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น และครั้งล่าสุด เมื่อกุมภาพันธ์ 2566 ยังไม่ทันโหวต องค์ประชุมก็ล่มก่อน
แต่ไม่ว่าจะมีข้อเสนออย่างไร ส.ว. ยังทำหน้าที่อย่างแข็งขัน โดยในรัฐธรรมนูญ 2560 วางกลไกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง ในที่ประชุมรัฐสภารวมกันของ ส.ส. และ ส.ว. พร้อมระบุด้วยว่าต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 83 เสียง หรืออาจกล่าวได้ว่า หาก ส.ว. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอใด ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านไปได้
ภาพจาก TNN ONLINE