รีเซต

สหรัฐฯเริ่มสงครามการค้า ส่งผลกระทบแรง เงินเฟ้อ 3 ปท. จ่อพุ่ง 0.5-2%

สหรัฐฯเริ่มสงครามการค้า ส่งผลกระทบแรง เงินเฟ้อ 3 ปท. จ่อพุ่ง 0.5-2%
ทันหุ้น
3 กุมภาพันธ์ 2568 ( 16:09 )
17

 

#หุ้นสหรัฐ #ทันหุ้น - บทวิเคราะห์ โดย บล.เอเซียพลัส

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงในวันศุกร์ที่ผ่านมา (S&P500 -0.50%, Dow Jones -0.75% และ Nasdaq -0.28%) จากความกังวลของนักลงทุนที่ถูกจุดชนวนโดยการบังคับใช้การขึ้นภาษี นำเข้าของรัฐบาลทรัมป์ต่อแคนาดา และเม็กซิโก รวมไปถึงการปรับตัวลดลงของหุ้นในกลุ่ม Energy (-2.74%) หลังบริษัทสำคัญ อาทิ Chevron รายงานผลประกอบการที่อ่อนแอในธุรกิจ กลั่นน้ำมัน

 

ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 -1.0% WoW และ NASDAQ -1.64% โดยเป็น การปรับตัวลดลงมากที่สุดจากหุ้นในกลุ่ม Information Technology(-4.55% WoW) จากการ เปิดตัวโมเดล AI ใหม่จาก DeepSeek ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลถึงความสามารถในการแข่งขันของ บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ดี โดย ดัชนี S&P500 +2.7% MoM, Dow Jones +4.7% และ Nasdaq +1.64%

 

ในวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ รายงานดัชนี PCE ในเดือน ธ.ค. +2.6% YoY เท่ากับที่ตลาดคาด และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ 2.4% โดย Core PCE ซึ่งเป็นตัวเลขที่ Fed ให้ความสำคัญ ในการพิจารณาเงินเฟ้ออยู่ที่ +2.8% YoY เท่ากับเดือนก่อนและที่ตลาดคาด โดยตัวเลขเงินเฟ้อ Core PCE ที่ไม่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ตลาดการเงินยังคงมีความหวังว่า Fed อาจจะยังปรับลด อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ในช่วงกลางปีนี้

 

ในวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจาก เม็กซิโกและแคนาดา 25% และจีน 10% ถือเป็นการลงนามในนโยบายเศรษฐกิจที่ทรัมป์เคยให้ สัญญาไว้ว่าจะลงมือทำ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ก.พ. นี้ โดยภาษีที่รัฐบาลทรัมป์เรียกเก็บมีจุดประสงค์เพื่อกดดันให้เม็กซิโกและแคนาดา ดำเนินการควบคุมการอพยพผิดกฎหมายและ ปัญหายาเสพติด ซึ่งสินค้านำเข้าหลักจากแคนาดา เช่น น้ำมันและไฟฟ้าจะถูกเรียกเก็บภาษีเพียง 10% เพื่อหลีกเลี่ยงการพุ่งสูงของราคาพลังงานในสหรัฐฯ ทั้งนี้ คำสั่งของทรัมป์เปิดทางให้มีกระบวนการยกเลิกภาษี หากเม็กซิโกและแคนาดาดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ

 

- หลังมีการประกาศขึ้นภาษีไม่นาน แคนาดาและเม็กซิโกประกาศจะตอบโต้สหรัฐฯ โดย นายกรัฐมนตรี Justin Trudeau ของแคนาดาระบุว่าจะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ 25% มูลค่า ประมาณ 1.55 แสนล้านดอลลาร์แคนาดา ($1.06 แสนล้าน) จากสินค้าสหรัฐฯ, สนับสนุนให้ชาวแคนาดา ซื้อสินค้าภายในประเทศ และหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวสหรัฐฯ รวมถึงอาจใช้มาตรการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุสำคัญ

 

ในขณะที่ประธานาธิบดี Claudia Sheinbaum ของเม็กซิโกให้คำมั่นว่าจะตอบโต้ด้วยมาตรการ ที่คล้ายกัน รวมถึงปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายค้ายาเสพติด และเรียกร้องให้สหรัฐฯ แก้ไขปัญหายาเสพติดภายในประเทศของตนเอง

 

ฝ่ายกลยุทธ์ฯ ประเมินว่าการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้นับเป็นการเปิดฉากสงครามการค้าที่จะ ลดทอนปริมาณการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก และส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะต่อเศรษฐกิจของ ประเทศที่เกี่ยวข้องหากความขัดแย้งและการตอบโต้ทางการค้ามีการลุกลามไปในวงกว้าง

 

- โดยเบื้องต้น PIIE ประเมินว่า การปรับขึ้นภาษีกับเม็กซิโกและแคนาดา จะส่งผลให้มูลค่า GDP สหรัฐฯ จะลดลงประมาณ USD200bn เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ไม่มีการกำหนดภาษี ส่วน แคนาดาจะสูญเสีย USD100bn จากขนาดเศรษฐกิจที่เล็กกว่ามาก ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเม็กซิโกจะหายไป 2% ด้านเงินเฟ้อ จะปรับสูงขึ้นราว 0.5-2% ของทั้งสามประเทศ

 

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการขึ้นภาษีการค้าดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากเป้าหมายการ ขึ้นภาษีของสหรัฐฯ เป็นไปเพื่อการกดดันให้ทางประเทศคู่ค้าให้ดำเนินนโยบายตามข้อเรียกร้อง ของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ยังมีท่าทีที่เปิดกว้างสำหรับการเจรจาที่จะยกเลิกภาษีดังกล่าวได้ในอนาคต ดังนั้น จึงต้องจับตาดูพัฒนาการของประเด็นดังกล่าวที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมี นัยยะสำคัญในอนาคต

 

ด้านอินเดียเปิดเผยแผนงบประมาณปี 2025 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลยังคงเป้าหมาย ขาดดุลงบประมาณที่ 4.4% ของ GDP แม้รายได้ภาษีลดลง โดยอาศัยเงินโอนจากธนาคารกลาง และรัฐวิสาหกิจ พร้อมเพิ่มการออกพันธบัตรเป็น 14.82 ล้านล้านรูปี โดยงบประมาณมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการลดภาษีให้ชนชั้นกลางมูลค่า 1 ล้านล้านรูปี ($1.15 หมื่นล้าน) ซึ่งเพิ่มเพดานรายได้ปลอดภาษีเป็น 1.2 ล้านรูปีจากเดิม 7 แสนรูปี เพื่อกระตุ้นการบริโภค

 

นอกจากนี้ งบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถูกปรับเพิ่มขึ้น 10% ด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น รองเท้าและเครื่องหนัง รวมถึงตั้ง กองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพมูลค่า 1 แสนล้านรูปี

ฝ่ายกลยุทธ์ฯ ประเมินว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจมีความผันผวนสูงในสัปดาห์นี้ โดยจะมีแนวโน้ม แกว่งตัวในกรอบกว้าง สาเหตุหลักมาจากการเริ่มต้นของสงครามการค้า ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนจากพัฒนาการและการตอบโต้ของประเทศที่เกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้ ตลาดยังจับตามองผล ประกอบการไตรมาสที่ 4 ของปี 2024 จากบริษัทใหญ่ เช่น Alphabet และ Amazon.com ใน ขณะเดียวกัน การกลับมาเปิดตลาดของหุ้นจีนหลังจากหยุดยาวเนื่องในเทศกาลตรุษจีน แม้จะได้รับแรงหนุนจากการตอบรับต่อข่าวความก้าวหน้าเทคโนโลยี AI ในจีน สะท้อนผ่านราคาหุ้นเทคจีนที่ซื้อขายในตลาดต่างประเทศที่มีการปรับตัวสูงขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่การปรับขึ้นภาษี การค้าของสหรัฐฯ น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดและภูมิภาคเอเชีย

 

ติดตามรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้: สหรัฐฯ ISM Manufacturing (ตลาดคาด 49.3 จุด vs. เดือนก่อน 49.2 จุด) และ ยูโรโซน CPI เบื้องต้น เดือน ม.ค. (เดือนก่อน +3.4% YoY)

 

ติดตามผลประกอบการหุ้นที่สำคัญในสัปดาห์นี้: วันจันทร์ (3 ก.พ.) Palantir (ตลาดคาดการณ์ EPS +39% YoY) วันอังคาร (4 ก.พ.) Alphabet (คาด EPS +33%), Merck & Co (คาด EPS +5,370%), PepsiCo (คาด EPS +9%), Advanced Micro Devices (คาด EPS +41%), PayPal (คาด EPS -23%) วันพุธ (5 ก.พ.) Novo Nordisk (คาด EPS +23%), Walt Disney (คาด EPS +17%), Uber (คาด EPS -20%), MicroStrategy (คาด EPS -90%) วันพฤหัสบดี (6 ก.พ.) Amazon (คาด EPS +15%), Eli Lilly (คาด EPS +108%), L’Oreal (คาดรายได้ +3%), Qualcomm (คาด EPS +8%), Honeywell (คาด EPS -11%)

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง