"พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ" เปิดแผนไล่น้ำท่วม สกัด "นครยะลา" จม
“ฝนปีนี้ตกหนักจริงๆ ทำให้น้ำไหลเข้ามาจำนวนมาก” คำกล่าวตอนหนึ่งของ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ที่มองเห็นปัญหาของเทศบาลเป็นโอกาส แล้วขบคิดหาทางออก โดยเฉพาะปีนี้มีน้ำไหลรุมเข้ามา 4 จุด พร้อมกันลงเมืองยะลาที่เปรียบเสมือนแอ่งกระทะ
ด้วยการบริหารงานที่เข้าใจลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ทำให้เทศบาลนครยะลาที่ขึ้นชื่อถึงผังเมืองที่มีความสวยงาม ถนนจำนวนกว่า 400 สาย ตัดเชื่อมโยงกันเป็นใยแมงมุม เป็นทั้งที่พักอาศัย สถานที่ราชการ ย่านสถานศึกษา และศูนย์กลางธุรกิจท้องถิ่น ไม่ต้องนอนจมน้ำหลายวันเหมือนที่อื่น เพียงแค่วันเดียว น้ำที่ไหลทะลักเข้ามาก็อันตรธานหายไปหมด
ไม่ใช่เพราะดวง หรือ โชคชะตา ที่เข้าข้าง ลองมาฟัง นายกพงษ์ศักดิ์กันดีกว่า
“ฝนมันจะตกเบาหรือหนักขนาดไหน ผมเตรียมพร้อมรับมือตลอด การวางแผนล่วงหน้าเป็นหัวใจสำคัญ เราจะได้รู้เท่าทันกับภัยธรรมชาติให้มากที่สุด”
เมื่อกล่าวถึง จ.ยะลา นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา มีร่องมรสุมพาดผ่านและมีทั้งลมและฝนตกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงระหว่าง 4-6 มกราคม 2564 ต้องประสบเหตุอุทกภัยเป็นครั้งแรกของปี 2564 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา รายงานพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้วทั้ง 8 อำเภอ กว่า 119 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 3,284 ครัวเรือน จำนวน 14,190 คน มีถนนได้รับความเสียหาย 24 สาย สะพาน 5 แห่ง พื้นที่ทางการเกษตรมากกว่า 50 ไร่ สัตว์เลี้ยงทางปศุสัตว์กว่า 1,500 ตัว ยังไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ในครั้งนี้มีปริมาณน้ำฝนตกสะสมมากสุดในรอบ 33 ปี โดยปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา มากสุดถึง 140 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา เป็นปริมาณน้ำฝนตกสะสมในเขตพื้นที่ป่าฮาลาบาลา และเขตแนวเทือกเขารอยต่อประเทศมาเลเซีย ทำให้มวลน้ำไหลลงมาสู่เขื่อนบางลาง
นายกพงษ์ศักดิ์ เล่าให้ฟังตั้งแต่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ในปี 2548 นครยะลาก็ไม่รอดจมอยู่ใต้น้ำ แต่ในปีนี้มีการบูรณาการกับหน่วยงาน การทำ “มาสเตอร์แพลน” ขึ้นมา ด้วยการเสริมจุดแข็งให้กับนครยะลา คือ การทำพื้นที่แก้มลิงให้มากขึ้น การติดตั้งระบบระบายน้ำเพิ่มขึ้น และการเสริมคันป้องกันในส่วนพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อน
“พื้นที่ทำแก้มลิงรับน้ำที่ทำล่าสุดมากกว่าพื้นที่แก้มลิงในปี 2548 เป็นที่ดินของกองทัพบกให้นำมาใช้ รวมทั้งกรมทรัพยากรน้ำจัดงบประมาณในการขุดลอกสร้างแก้มลิง ยังมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ในอดีตเคยสูบน้ำได้แค่ 3 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 18 ลบ.ม. ยังมีการเพิ่มประตูน้ำเพื่อระบายน้ำลงแม่น้ำปัตตานี ทำให้การไหลของน้ำเดิม 800 เป็น 1,200 ลบ.ม.” นายกนครยะลากล่าว และว่า ยังมีการเสริมสถานีสูบน้ำมากขึ้น ใช้พื้นที่สวนสาธารณะจำนวน 2 แห่ง พร้อมตั้งสถานีสูบน้ำขึ้นมา
“น้ำปีนี้จำนวนมหาศาล นอกจากแก้มลิง สถานีสูบที่ระบายเป็นทอด ทำให้น้ำในพื้นที่สามารถระบายอย่างรวดเร็ว เรามีเครื่องสูบน้ำโมบาย ที่เข้าไปเสริมในบางจุดเพิ่มขึ้นจากเดิม 12 เพิ่มอีก 4 ตัว ที่ดัดแปลงเคลื่อนที่ไปสูบได้ทุกแห่ง”
นายกนครยะลากล่าวต่อด้วยว่า ยังมีการใช้เรือท้องแบนไหลไปตามจุดทางคอดต่างๆ ของแม่น้ำ เพื่อช่วยผลักดันน้ำ เร่งระบายให้เร็วขึ้น
ส่วนการคืนสู่สภาพเดิมนั้น นายกนครยะลาเผยว่า เมื่อน้ำแห้ง จะสั่งให้เจ้าหน้าที่เทศบาลเร่งทำความสะอาดให้จบภายใน 1 วัน อาทิ การเก็บกวาดทรายบรรจุถุงที่ใช้กั้นน้ำออกจากพื้นที่หลังน้ำลดแล้วทันที ขณะที่ริมตลิ่งหลังน้ำลดจะมีร่องรอยหรือขยะลอยน้ำมาด้วย นายกพงษ์ศักดิ์บอกว่า เป็นโอกาสในการเก็บขยะตามบึงเหล่านี้ให้หมด เพื่อทำให้บึงสะอาด
นายกพงษ์ศักดิ์เผยต่อว่า มีการเปรียบให้เห็นถึงประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่น้ำท่วม หากเป็นอดีตหรือในปี 2548 สมมุติน้ำท่วม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปีนี้จะท่วมแค่ 30% เท่านั้น หรือแม้แต่ความสูงของน้ำที่เคยเป็น 100% ก็จะเหลือแค่ 30%
“พูดให้ง่ายขึ้น ในอดีตตรงจุดที่มีน้ำท่วมชนิดจมหัว ถ้าเป็นปัจจุบันมีการรับมือ น้ำก็จะเหลือลงประมาณเลยเอวเล็กน้อยแล้วสูบให้ทิ้งลงแม่น้ำปัตตานีให้หมด ล่าสุด บางพื้นที่น้ำสูงระดับต้นขา ก็จัดการไล่น้ำออกจนหมดทุกพื้นที่ของเทศบาลตั้งแต่เมื่อ 11 มกราคมที่ผ่านมา”
นายกนครยะลากล่าวว่า แม้วันนี้เราสามารถป้องกันน้ำท่วมได้เกือบเต็มระบบ แต่ก็พบว่ามีชาวบ้านทำการถมที่ดินขวางทางน้ำหลายจุด ก็ต้องไปตามแก้ปัญหากันต่อ
สำหรับปีนี้ที่น้ำท่วมนครยะลาค่อนข้างมาก เรามีการทำซิเนริโอขึ้นมาก สามารถจัดแบ่งให้เห็นทางน้ำที่ไหลเข้าสู่นครยะลาถึง 4 จุด ดังนี้ 1.น้ำที่มาจาก อ.รามัน 2.มาจาก อ.ยะหา 3.จากใต้เขื่อนบางลาง ที่เป็นเส้นทางน้ำของ อ.ธารโต บันนังสตา และกรงปินังลงมา และ 4.น้ำที่ไหลจากเหนือเขื่อนบางลาง ที่ อ.เบตงและ อ.ธารโต บางส่วน ในอดีตไม่เคยมีน้ำไหลมาจาก 4 ด้านพร้อมกัน แต่ปีนี้มาพร้อมกันหมด แต่เราก็เอาอยู่จนได้
เมื่อถามว่า จะต้องเติมงบอีกเท่าไหร่จึงจะพอสำหรับการวางแผนจัดการท่วมในเทศบาลนครยะลา นายกพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ก็ต้องเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ และการเพิ่มสถานีสูบน้ำอีก 3 แห่ง คาดว่าจะใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อให้ทุกอย่างเป็นระบบมากขึ้น เชื่อว่าการจัดการปัญหาน้ำท่วมจะง่ายและหมดไปในที่สุด
ถือได้ว่าเทศบาลนครยะลาได้แก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างถูกจุด ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าเพื่อประชาชนโดยแท้