เตือนโรค "ไข้เลือดออก" อาการแบบไหนมีความเสี่ยงต้องรีบไปพบแพทย์
เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝนซึ่งสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของยุงลาย ทำให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกซึ่งมียุงลายเป็นพาหะจำนวนมากขึ้น จึงขอเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังและร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านโรงเรียนและชุมชน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลของกรมควบคุมโรคระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-20 มิ.ย. 2565 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ5,196 คน เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ โดยผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนอกจากป้องกันไข้เลือดออกแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้ด้วย โดยประชาชนสามารถร่วมกันดูแลป้องกันได้ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดเก็บกวาดเก็บบ้าน โรงเรียน แหล่งชุมชน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมถึงการจัดกิจกรรมเสริมในการจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในชุมชน
นอกจากนี้ หากมีบุตรหลานหรือคนในครอบครัวมีอาการไข้สูงให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีมีอาการ ทานยาแล้วไข้ไม่ลดหรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน แต่ควรรีบพบแพทย์
นอกจากนี้ หากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออกกับโรคโควิด-19 จะทำให้มีอาการทรุดหนักและรวดเร็วได้ เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่เหมาะสม ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการของไข้เลือดออก หรือโรคต่างๆ สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ข้อมูลจาก Thaigov
ภาพจาก AFP