รีเซต

มท. ขับเคลื่อน 8 มาตรการ ตามแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุก

มท. ขับเคลื่อน 8 มาตรการ ตามแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุก
TNN ช่อง16
3 กรกฎาคม 2567 ( 10:44 )
29
มท. ขับเคลื่อน 8 มาตรการ ตามแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุก

วันนี้ (3 ก.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีมติให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ใช้แนวทางในการขับเคลื่อนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุก ควบคู่กับนโยบายการจัดระเบียบสังคมอย่างต่อเนื่อง 


ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย ภาครัฐ อาทิ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ป.ป.ส. หน่วยงานด้านสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน เข้าร่วมปฏิบัติการ Re X-ray สถานบริการและสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการ พร้อมทั้งรับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดและการสกัดจับเครือข่ายผู้ค้ารายใหญ่ และรายย่อยที่ลักลอบขนย้ายยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายโดยไม่มีการยกเว้น


"เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอว่า ในปัจจุบันยาเสพติดยังเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นภัยคุกคามความสงบสุขและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จึงกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบูรณาการปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและเด็ดขาด ให้มีผลการจับกุมผู้กระทำผิดที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมภายใน 90 วัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้สั่งการให้ มท. เร่งบูรณาการหน่วยงานในระดับพื้นที่ และผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อม Re X-ray แก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุก และกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานที่ชัดเจน ภายใต้กลไกผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ


นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำว่า เพื่อให้การดำเนินการเชิงรุกเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตนได้สั่งการให้กรมการปกครองปรับปรุงแนวทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน พร้อมทั้งกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) และนายอำเภอในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศป.ปส.อ.) ดำเนินการบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระยะเร่งด่วน 3 เดือน (เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2567) ตามมาตรการ 8 ข้อ ได้แก่ 


1. มาตรการค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และผู้ค้ายาเสพติด (Re X-ray) ด้วยการทบทวนบัญชีรายชื่อผู้กระทำความผิดของอำเภอที่จัดทำไว้แล้ว พร้อมค้นหาผู้ป่วยจิตเวชฯ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และผู้ค้ายาเสพติดเพิ่มเติม ควบคู่การประสานขอข้อมูลผู้ต้องขังคดียาเสพติดทุกประเภทในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จากเรือนจำและสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและประวัติผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดย "ข้อมูลผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด" ใช้สำหรับติดตามให้ความช่วยเหลือ และในส่วน "ข้อมูลผู้ค้ายาเสพติด" ใช้สำหรับบัญชีเฝ้าระวังและควบคุมพฤติกรรม ทั้งนี้ ให้รายงานข้อมูลภายในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ 


2. มาตรการประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทำการประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ถึงนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ให้เข้าถึงประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ รณรงค์ต่อต้านยาเสพติด และเผยแพร่องค์ความรู้โทษภัยต่าง ๆ และช่องทางการแจ้งเบาะแสที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายทุกช่องทาง ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  หรือ สถานที่อื่น ๆ และให้มีการจัดแถลงข่าว/ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลการปฏิบัติงานให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง


มาตรการที่ 3 คือ การเสริมกำลังป้องกัน ด้วยการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้าน ตามแนวทางโครงการ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรัก ความสามัคคีของประชาชนในหมู่บ้าน อันนำไปสู่การช่วยเหลือ ดูแลซึ่งกันและกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมทั้งส่งเสริมให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษา ให้มีความรู้เท่าทันกับปัญหายาเสพติด เสริมสร้างทักษะการบริหารจัดการชีวิต คุณธรรม จริยธรรม รวมถึงหน้าที่พลเมือง และสนับสนุนกิจกรรมในโรงงาน/สถานประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงสร้างความร่วมมือและเครือข่ายการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มแรงงาน สถานประกอบการ และนายจ้างของกิจการทุกประเภท รวมไปถึง "การปฏิบัติการกวาดบ้านตัวเอง" โดยสุ่มตรวจคัดกรองสารเสพติดในปัสสาวะ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน พระสงฆ์/นักบวช ฯลฯ 


4. มาตรการปราบปราม ด้วยการบูรณาการหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน จัดประชุมโต๊ะข่าวทุกสัปดาห์ เพื่อสืบสวนหาข่าว ปิดล้อมตรวจค้นผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยในระดับพื้นที่ตามบัญชี Re X-ray ทุกสัปดาห์ และเร่งสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ขยายผลการจับกุมผู้ค้ารายย่อยไปสู่การจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ รวมถึงการยึด/อายัดทรัพย์สิน เพื่อตัดวงจรยาเสพติด พร้อมตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดบริเวณพื้นที่บ้านพักอาศัยของผู้ค้ายาเสพติดตามบัญชี Re X-ray อย่างต่อเนื่อง เพื่อกดดันและจำกัดเสรีภาพผู้ค้ายาเสพติด


5. มาตรการบำบัดรักษา ด้วยการค้นหา และคัดกรอง/จำแนกผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และส่งต่อเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลตามสภาพอาการ/ความรุนแรงของการเสพยาเสพติด หากเป็นผู้ติดยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงให้รีบส่งตัวไปสถานพยาบาลเป็นลำดับแรกก่อน และร่วมมือกับหน่วยงานราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วัด/องค์กรทางศาสนา และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จัดตั้งสถานที่ทำการฟื้นฟู/พักคอย สำหรับผู้ป่วยยาเสพติดที่รอเข้ารับการบำบัดฯ หรือ ผ่านการบำบัดฯ แล้ว แต่ครอบครัว/ชุมชนยังไม่มีความพร้อมในการดูแลช่วยเหลือ เพื่อพักคอยในระยะเวลาหนึ่ง โดยสถานที่ดังกล่าว จะต้องรองรับผู้ติดยาเสพติดได้ตลอดเวลา 


6. มาตรการฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมทุกระดับ ติดตาม เยี่ยมเยียนให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง และดูแลช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดให้มีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งจัดทำข้อมูล ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดของแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อมอบหมายผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน หัวหน้าคุ้มบ้าน/หย่อมบ้าน/ป๊อกบ้าน จัดทำระบบกลไกการติดตามผู้ติดยาเสพติดให้เข้ารับการบำบัดรักษาตามกำหนดนัดแพทย์และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง 


7. การติดตามและประเมินผล โดยกรมการปกครองกำหนดการติดตาม และประเมินผลตามตัวชี้วัดที่กำหนดทุกมาตรการ/แนวทาง เพื่อติดตามความก้าวหน้า ปัญหา และอุปสรรค 


8. การยกย่องเชิดชูเกียรติ โดยกรมการปกครอง พิจารณาผลการปฏิบัติงานในระดับจังหวัด ตามขนาดเขตการปกครองของจังหวัด (ขนาด S M L) และให้จังหวัดพิจารณาคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานดีเด่น และจัดพิธีมอบรางวัลในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บาน/คุ้มบ้าน/หย่อมบ้าน/ป๊อกบ้าน ต่อไป เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ" นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม


นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระยะเร่งด่วน 3 เดือน และจัดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน และหาวิธีการในการป้องกันและแก้ไขให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งต้องรวบรวมข้อมูลจาก ศป.ปส.อ. เกี่ยวกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และให้ดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตามมาตรการค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และผู้ค้ายาเสพติด (Re X-ray) และทำการเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจารณา เพื่อใช้เป็นข้อมูลเป้าหมายในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดร่วมกัน และรายงานจำนวนผู้กระทำความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้กรมการปกครองทราบ ภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 


สำหรับในด้านการบริหารจัดการ ให้บูรณาการด้านงบประมาณจากหน่วยงานในพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามแผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด  หรือ งบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และกรณีขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินการตามหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการในระดับพื้นที่เกิดการบูรณาการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ


กระทรวงมหาดไทย ยังได้เน้นย้ำและกำชับให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ทั้ง 18 เขตตรวจราชการ กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นประเด็นในการตรวจราชการ เพื่อตรวจติดตามการดำเนินการตามแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในแต่พื้นที่ที่ดำเนินการ พร้อมทั้งกำกับ ดูแล และประเมินผล 


ตลอดจนเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลสัมฤทธิ์ สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะปัญหายาเสพติด คือ ภัยร้ายที่แฝงตัวอยู่ในทุกพื้นที่ เป็นต้นตอที่ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม และความสูญเสีย ทั้งต่อครอบครัว ต่อชุมชน และประเทศชาติ จึงเป็นภาระหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่ต้องช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จึงขอให้พี่น้องประชาชนช่วยกันสอดส่อง ดูแลบุตรหลาน และคนใกล้ชิด ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และหากมีเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้ได้ช่วยกันโทรศัพท์แจ้งสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจากยาเสพติด



ภาพจาก กระทรวงมหาดไทย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง