รีเซต

7 จังหวัดใต้ตอนล่าง พบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส 10 ราย ตาย 3 ราย

7 จังหวัดใต้ตอนล่าง พบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส 10 ราย ตาย 3 ราย
มติชน
8 สิงหาคม 2563 ( 12:19 )
307
7 จังหวัดใต้ตอนล่าง พบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส 10 ราย ตาย 3 ราย

เตือน ปชช. ระวังโรคเมลิออยโดสิส แนะเลี่ยงสัมผัสดิน-น้ำเมื่อมีบาดแผล หากมีอาการไข้นานเกิน 5 วัน ให้รีบพบแพทย์

 

วันที่ 8 สิงหาคม 2563 นพ.เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 12 จ.สงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 31 กรกฎาคม 2563 ที่ได้รับรายงานพบผู้ป่วย 10 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา ใน อ.จะนะ เมือง และ อ.หาดใหญ่

 

“พบผู้ป่วยเพศชาย 8 ราย เพศหญิง 2 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 55 – 64 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป และกลุ่มอายุ 35-44 ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อาชีพเกษตรกรรม และรับจ้าง” นพ.เฉลิมพล กล่าว

 

นพ.เฉลิมพล กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจหาเชื้อเมลิออยโดสิส ในดิน โดยคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในปี 2563 พบเชื้อเมลิออยโดสิส ในอำเภอเมือง จะนะ สะบ้าย้อย สะเดา และ อ.คลองหอยโข่ง

 

“การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคเมลิออยโดสิส คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากต้องสัมผัสดินหรือ น้ำ เช่น ทำการเกษตร จับปลา ลุยน้ำ หรือลุยโคลน ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ และควรทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่ทันที ป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลเมื่อต้องสัมผัสดินและน้ำ หากมีแผลถลอกซึ่งสัมผัสกับดินหรือน้ำควรทำความสะอาดทันที ในบุคคลที่มีอาการของโรคเบาหวาน และมีบาดแผลรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดินและน้ำ” นพ.เฉลิมพล กล่าว

 

 

รายงานข่าวว่าโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เบอโคโดเลีย สูโดมาลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ สามารถติดต่อจากการสัมผัสกับดินหรือน้ำ ผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนัง หรือหายใจเอาฝุ่นจากดินหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป เชื้อเมลิออยโดสิสสามารถอยู่ได้ในซากสัตว์ที่อยู่ในดินและน้ำ

 

“ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่คือผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต และผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ เช่น ติดสุราหรือทานยากดภูมิคุ้มกัน โรคนี้ก็อาจเข้าแทรกซ้อนได้ อาการโดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีไข้สูง หรือมีไข้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ หายใจไม่สะดวก หรือหอบเหนื่อย ซึมแบบไม่รู้ตัว ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายโรคปอดบวมรุนแรง บางรายมีอาการคล้ายวัณโรค เน้นย้ำประทานอาหารสุกสะอาด ไม่ประทานอาหารที่ปนเปื้อนจากดิน ฝุ่นดิน หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน หากมีอาการไข้นานเกิน 5 วัน หรือมีบาดแผลอักเสบเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที” ” นพ.เฉลิมพล กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง