พายุทรายถล่มอิรัก หายใจไม่ออกนับพันคน

เมื่อวานนี้เกิดพายุทรายพัดถล่มพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ของอิรัก รวมถึงบางส่วนของเมืองบาสรา ส่งผลให้ทัศนวิสัยแย่ลงอย่างหนัก หลายพื้นที่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นสีส้ม โดยมีรายงานว่ารถยนต์จำนวนมากต้องชะลอความเร็วหรือจอดริมทาง เพราะไม่สามารถขับต่อไปได้ท่ามกลางหมอกหนาทึบจากพายุทราย
ผลกระทบด้านสุขภาพปรากฏชัดในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในเมืองบาสรา สำนักงานสาธารณสุขรายงานว่ามีผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจและหายใจไม่ออกมากถึง 1,041 คน ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แผนกฉุกเฉินแน่นขนัดไปด้วยผู้สวมหน้ากากอนามัยและผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องพ่นละอองยาเพื่อช่วยในการหายใจ
ในจังหวัดมูธันนา ทางตอนใต้ มีผู้ป่วยจากอาการหายใจติดขัดอย่างน้อย 700 คน ขณะที่จังหวัดนาจาฟรับผู้ป่วยกว่า 250 คน และอีกกว่า 322 คน รวมทั้งเด็ก ต้องเข้ารับการรักษาในจังหวัดดีวานิยาห์ นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจอีก 530 คน ในจังหวัดดีการ์และบาสรา
พายุทรายรุนแรงครั้งนี้ทำให้ทัศนวิสัยในหลายพื้นที่ลดลงเหลือไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมาก
องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า อิรักเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางที่สุดต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยภัยแล้งและอุณหภูมิที่สูงจัดในช่วงฤดูร้อน กำลังทำลายพื้นที่เกษตรกรรมและทำให้หลายภูมิภาคของประเทศแทบไม่สามารถอยู่อาศัยได้
สำหรัล “พายุทราย” (Sandstorm หรือ Dust Storm) นั้น เกิดจากกระแสลมแรงที่พัดเอาฝุ่นทรายและอนุภาคเล็กๆ จากพื้นดินขึ้นไปในอากาศ พบได้บ่อยในเขตทะเลทรายหรือพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และเอเชียกลาง พายุเหล่านี้มักเกิดขึ้นในฤดูร้อนหรือช่วงที่มีความแห้งแล้งรุนแรง และอาจส่งผลกระทบต่อ ระบบทางเดินหายใจ การจราจรและทัศนวิสัย รวมถึงเทคโนโลยี เช่น ระบบนำทางด้วย GPS หรือเครื่องบิน
ดังนั้น พายุทรายที่ถล่มอิรักในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนถึงภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักในภูมิภาคตะวันออกกลาง การพัฒนาแผนรับมือ ทั้งด้านสาธารณสุข การจัดการน้ำ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน