เลาะ Floriade มหกรรมพืชสวนโลก2022 ชม ไทยแลนด์ พาวิลเลียน ‘TRUST’
บรรยากาศช่วงเดือนเมษายนปีนี้ ทั่วโลกดูจะผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากทุกประเทศผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในยุโรป เกือบทุกประเทศเปิดประเทศ ปล่อยเสรีการเดินทาง ท่องเที่ยว และใช้จ่ายตามปกติ แบบวิถีปกติ เลิกเว้นระยะห่าง เลิกสวมแมสก์ และพอเหมาะพอดีกับยุโรปเริ่มช่วงอากาศอบอุ่นขึ้น เข้าช่วงฤดูใบไม้ผลิ จึงเพิ่มดีกรีบรรยากาศที่คึกคัก ผิดตาจาก 2 ปีที่ผ่านมา
กิจกรรมระดับโลกทยอยกันเปิดตัว ล่าสุด เพิ่งกดปุ่มเปิดป้ายงาน คือ งานมหกรรมพืชสวนโลก The International Horticultural Exposition 2022 หรือ EXPO 2022 Floriade Almere ซึ่งเป็นงานแสดงพืชสวนยิ่งใหญ่ระดับโลก (A1) ซึ่งได้รับการรับรองจากสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) และสำนักงานจัดงานมหกรรม นานาชาติ (BIE) โดยทางการเนเธอร์แลนด์ กำหนดจัดขึ้นทุกๆ 10 ปี และหมุนเวียนจัดงานไปตามเมืองต่างๆ ปี 2565 ถือเป็นครั้งที่ 7 เลือกจัดในเมืองอัลเมียร์ (Almere) จังหวัดเฟลโวลันด์ (Flevoland) บนพื้นที่กว่า 375 ไร่ ระหว่างวันที่ 14 เมษายน-9 ตุลาคม 2565
แนวคิด Expo 2022 Floriade Almere ต้องการจุดประกายให้ทุกคนเห็นถึงการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านแนวคิด “Growing Green Cities” นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับเมืองแห่งอนาคต และมุ่งหวังจะสร้างแรงบันดาลใจ ให้ดำเนินวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ด้วยการดำเนินการพัฒนาเมืองให้เป็น Greening the city เพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น Feeding the city พัฒนาการจัดหาอาหารและการผลิตอาหาร อย่างยั่งยืนโดยเมืองและเพื่อเมือง Energizing the city การจัดหาแหล่งพลังงานอัจฉริยะที่มีความยั่งยืนมากขึ้น Healthying the city การมีสุขภาพที่ดีในเมืองที่ดี ถือเป็นโจทย์ให้ทุกประเทศที่เชิญเข้าร่วมงานนี้สร้างสรรค์ในพื้นที่ที่จัดแสดง
แม้ที่ผ่านมาการจัดงานจะเผชิญกับนานาอุปสรรค ทั้งการระบาดของโควิด อากาศแปรปรวน และปัญหาทางเทคนิคต่อการก่อสร้างและตกแต่ง แต่เมื่อถึงกำหนดเนเธอร์แลนด์ยังเดินหน้าเปิดงาน โดยสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซาน เดอร์ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมพืชสวนโลก ครั้งที่ 7 ในวันที่ 13 เมษายน โดย นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย เดินทางไปร่วมงาน พร้อมเปิด Thailand Pavilion
ปลัดทองเปลวกล่าวในวันเปิด Thailand Pavilion ตอนหนึ่งว่า “เป็นโอกาสที่ดีของไทย และได้ประโยชน์ ในการเผยแพร่ความก้าวหน้าเรื่องนวัตกรรมด้านอาหารและสินค้าเกษตรของไทย การพัฒนากระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและคุณภาพของไทยอย่างยั่งยืน สู่การรับรู้ของผู้เข้าชมงาน ที่ผู้จัดงานประเมินไว้กว่า 2 ล้านคนเดินทางมาชมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเพื่อแสดงถึงความพร้อมของไทยทั้งภาคบริการและภาคการเกษตรของไทย รวมทั้งความพร้อมด้านการท่องเที่ยวของไทย เผยแพร่แนวทางการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน วิถีชีวิต วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้เชิญและรับที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งตลอดระยะเวลาจัดงานยาว 6 เดือน ก็จะมีการหมุนเวียนการตกแต่งและกิจกรรมเพื่อให้รู้ว่าไทยมีอะไรดี รวมถึงเพิ่มการขายสินค้าเกษตรไทย เจาะเข้าตลาดยุโรป”
สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อ 12 ตุลาคม 2563 ให้เข้าร่วมงานและอนุมัติงบรวม 187.64 ล้านบาท โดยมอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายได้ข้อสรุป Thailand Pavilion จะพบกับงานนิทรรศการสินค้าพืชสวนไทย สินค้าเกษตรไทยที่เกี่ยวข้องและผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดลอ้ม สินค้าที่มีศักยภาพส่งออก กิจกรรมเชิญชวนท่องเที่ยวไทย และกิจกรรมสาธิตและแสดงทางศิลปวัฒนธรรม รวมถึงตั้งโต๊ะเปิดเจรจาระหว่างธุรกิจไทยกับนานาชาติ ผ่านคิดหลัก (Theme) “TRUST Thailand” นั่นคือ T Trendy (เป็นที่นิยม) R Reachable (เข้าถึงง่าย) U Utility (ใช้ประโยชน์ได้) S Safety / Sustainability (ปลอดภัย / ยั่งยืน) T Technology (ด้วยการใช้เทคโนโลยี) และ Sub-Theme คือ 3S : Safety Security and Sustainability ตลอดจน ใช้ BCG และ Smart City หรือความหมายว่า “เข้าใจทุกความแตกต่าง เชื่อมั่นความปลอดภัย เปิดโลกทัศน์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ มุมมองที่คุณไม่เคยเห็น ที่นี่ประเทศไทย” โดยใช้ตราสัญลักษณ์ติดบนอาคาร “รูปแบบการพนมมือของคนไทยที่มีลักษณะคล้ายดอกบัว มีความหมายถึง การต้อนรับ การให้เกียรติ และเป็น
สิริมงคลกับผู้เข้าร่วมงาน”
ภายในอาคารจัดแสดง แบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ได้แก่ โซน Welcome to Thailand โซน Future Products เน้นตกแต่งด้วยกล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับ สร้างภาพลักษณ์ “Land of Orchid” โซน Showroom : Future Products โชว์สินค้าไทยนานาชนิด และโซนนิทรรศการหมุนเวียน ช่วงเปิดตัวเน้นตกแต่งด้วยกล้วยไม้ สกุลหวาย-แวนดา และไม้ฟอกอากาศ เช่น สกุลลิ้นมังกร ต่อไปก็แนะนำผลไม้ขึ้นชื่อของไทย อาทิ ทุเรียน มังคุด มะม่วง น้ำดอกไม้สีทอง ขนุน แก้วมังกร เป็นต้น พร้อมสาธิตทำข้าวเหนียวมะม่วง ตลอดเดือนมิถุนายน จากนั้นก็จะมีการสาธิตนวดแผนไทย ห่อลูกประคบ สาธิตปรุงต้มยำกุ้ง เพื่อให้รู้ถึงสมุนไพรไทย ปลายกรกฎาคมถึงต้นสิงหาคม สาธิตปลูกไม้ประดับ เดือนกันยายน-ตุลาคม สลับกับการแสดงที่เป็นอัตลักษณ์ของไทย ที่ผู้เข้าชมจะเพลิดเพลินกับโซนสวนไทย จากพรรณไม้เมืองร้อน เช่น ปทุมมา ดาวเรือง มะลิ ชวนชม เป็นต้น
นอกจากนี้ในงาน Floriade ผู้เข้าชมยังจะเพลิดเพลินไปกับการนำเสนอของนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งเนเธอร์แลนด์ได้เชิญชวนไว้ 50 ประเทศ แต่ที่มีการตอบรับกว่า 20 ประเทศ แต่ด้วยวิกฤตโควิดก็ทำให้หลายประเทศถอนตัว เบื้องต้นจึงเหลือที่เปิดให้ชมก่อน 16 ประเทศ ต่างก็ตกแต่งและนำเสนอโจทย์ตามที่เจ้าภาพกำหนดไว้ และใช่ว่าจะมีแต่ดอกทิวลิปให้ชมเท่านั้น
ยกตัวอย่าง จีน ตกแต่งสวนจีน ภายใต้แนวคิด “A growing Chinese bamboo garden” นำเสนอการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของมนุษย์และธรรมชาติ ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และความเจริญรุ่งเรือง ป่าไผ่ คนเข้าชมจะได้เดินผ่านประตูไม้ไผ่และค้นพบป่าไผ่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ รวมพื้นที่ 4,200 ตารางเมตร ถือเป็นสวนนานาชาติใหญ่ที่สุดในงาน Floriade ครั้งนี้ ตกแต่งเป็นสวนดอกไม้ อย่าง ดอกโบตั๋น ดอกชบา และดอกเบญจมาศ พร้อมบรรยายถึงเรื่องราวตามเทพนิยายจีน สัมผัสไปพร้อมกับศิลปะและวัฒนธรรมจีน และนิทรรศการผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ การประดิษฐ์ตัวอักษร และวิจิตรศิลป์
ญี่ปุ่น พาวิลเลียน สะท้อนให้เห็นแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตทางนิเวศวิทยาแบบดั้งเดิม มีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับสวน พื้นที่เพาะปลูก และป่าไม้ นำเสนอธีม “Satoyama” (ซาโตยามะ) ประกอบด้วย พื้นที่การเกษตร บ่อน้ำชลประทาน ป่าไม้ และทุ่งหญ้ารอบเมือง Satoyama ที่เป็นการหล่อหลอมระหว่างวิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติมาเป็นเวลายาวนาน เพลิดเพลินกับดอกไม้สวยงามในสวนญี่ปุ่น และนิทรรศการอิเคบานะ ต้นบอนไซ
และการจัดดอกไม้ วิถีชีวิตเชิงนิเวศแบบดั้งเดิม และเน้นให้รู้ว่าการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวสำคัญต่อโลก
อินเดีย นำเสนอ การเดินทางสู่จิตวิญญาณของสวนแห่งนี้ผ่านการเชื่อมต่อกับธรรมชาติ สัมผัสด้วยตัวเองว่าธรรมชาติทำให้คุณมีความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างไร และค้นพบว่าอินเดียจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร หรือบังกลาเทศ เน้นธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จาก shapla (ดอกไม้ประจำชาติ) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำหรับรูปทรงของศาลา Bangladesh Pavilion
เดินไปชมยุโรปกันบ้าง อย่าง เยอรมนี พาวิลเลียน ภายใต้ธีม “A sustainable interaction between nature and city” สวนเยอรมัน เน้นปลูกพืชสวนแบบประหยัดทรัพยากรสมัยใหม่ สะท้อนเมืองสีเขียวแห่งอนาคตในรูปแบบที่สนุกสนาน จัดงานนิทรรศการที่เคลื่อนไหว หรือโต้ตอบกับคนชมงานได้ จัดอยู่ใจกลางสวนประกอบด้วยพื้นที่เปิดโล่งที่ล้อมรอบด้วยศาลาไม้ เป็นสัญลักษณ์เมืองสมัยใหม่ ศาลามีสวนบนดาดฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม ซุ้มสีเขียว สนามเด็กเล่นในน้ำ และอื่นๆ อีกมาก
ในส่วนสวนอื่นๆ อาทิ เบลเยียม จัดสวนระบบนิเวศ เน้นการลิ้มรสดอกไม้ที่รับประทานได้ ที่ผ่านการคิดค้นพบนวัตกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพลิดเพลินไปกับดอกไม้ พืช และต้นไม้ที่คัดสรรมาอย่างดี สวนไซปรัส แสดงแม้จะเป็นเขตเมืองที่แห้งแล้ง แต่สามารถเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะที่ให้ชีวิตแก่เมืองด้วยพืชพื้นเมืองได้อย่างไร หรือฝรั่งเศส ให้ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่เป็นของคู่กันในศาลาฝรั่งเศส มาสัมผัสเมืองแห่งโลกอนาคตกันเถอะ หรืออิตาลี เพลิดเพลินกับสวนเมดิเตอร์เรเนียนร่วมสมัยและยั่งยืน มีการนำเสนอดอกไม้กับพืชที่รับประทานได้ ซึ่งนำมาประกอบในอาหารอิตาเลียนแบบดั้งเดิม หรือลักเซมเบิร์ก จัดแสดงนิทรรศการพืชสวนของตนเองตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม 2025 : LUGA 2025 ที่ Luxembourg Pavilion นอกจากคุณจะได้สัมผัสกับสวนเมืองลักเซมเบิร์กแล้ว ที่นี่คุณสามารถค้นพบงานศิลปะที่สูงเป็นเมตรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของใบไม้ขนาดมหึมา หรือ Czech Republic ในฐานะผู้มาเยือน จัดสถานที่เงียบสงบ ซึ่งมี UNIVERSE รูปปั้นขนาดใหญ่ ออกแบบโดย Vclav Fiala หรือที่สวน Switzerland พาไปสู่การเดินทางเสมือนจริง แบ่งปันมุมมองของพวกเขาในหัวข้อ Growing Green Cities
อีกสวนได้ เยี่ยมชม “รังทะเลทราย” ของกาตาร์ และชม “หอคอยนกพิราบ” ที่รู้จักกันดีของประเทศ รูปทรงแบบดั้งเดิมผสมผสานเข้ากับเทคนิคและวัสดุที่ทันสมัย ค้นพบวิสัยทัศน์ของกาตาร์ การพัฒนาและนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับสีเขียวและความยั่งยืนคืนสู่ธรรมชาติ วิธีการก่อสร้างได้รับการออกแบบมาเพื่อให้คืนวัสดุของกาตาร์ พาวิลเลียนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เมื่อสิ้นสุดการจัดงาน การออกแบบศาลาได้รับแรงบันดาลใจจาก “หอคอยนกพิราบ” ที่มีชื่อเสียงของประเทศ หอคอยเหล่านี้เดิมเป็นสถานที่พักผ่อนในทะเลทรายสำหรับนกพิราบในการอพยพ โดยภายในอาคารมีการจัดนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของนกพิราบในการอพยพด้วยเทคนิคที่ทันสมัย เช่น โฮโลแกรม
แม้แต่ สมาคมพืชสวนชิโน-ยุโรป นำเสนอ Sino-Europe Horticulture Association (SEHA) ผ่านสวนโรโดเดนดรอน (ชื่อสกุลกุหลาบชนิดหนึ่้ง) เต็มไปด้วยสีสันและสวยงาม นอกจากนี้ เจ้าภาพ Floriade Expo 2022 เสนอทางเลือกให้กับประเทศเล็กๆ ในการเข้าร่วมใน “หมู่บ้านโลก” ให้ได้รับโอกาสในการนำเสนอประเทศตนเอง ซึ่งการจัดรูปแบบนี้จะทำให้เกิดเป็นหมู่บ้านที่มีสีสันและหลากหลาย โดยมีประเทศที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา คือ ประเทศ Chad ประเทศ Ghana ประเทศ Somalia ประเทศ Sudan และประเทศ Yemen ซึ่งหากใครที่ไม่สามารถเดินทางมาชมได้ด้วยตนเอง ก็ติดตามความเคลื่อนไหวการจัดงานที่ www.thailandfloriade2022.com
หลังเปิดงานผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ เช็กความเห็นจากผู้เข้าชมผ่านเว็บต่างๆ ก็ต้องปลื้ม เพราะ Thailand Pavilion ติดหนึ่งใน 5 ที่ทั่วโลกชื่นชม