"แผ่นดินไหว" เกิดถี่ขึ้น หรือเกิดอยู่เป็นประจำ ?

กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย ได้รายงานการเกิดอาฟเตอร์ช็อก หลังแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.7 แมกนิจูดในเมียนมานับร้อยครั้ง อย่างในวันนี้ (31 มีนาคม) ข้อมูลล่าสุดในเวลา 12.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า เกิดอาฟเตอร์ช็อก 15 ครั้ง ตั้งแต่ช่วง 06.00 น. จนถึง 11.00 น. ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ความรุนแรงไม่เกิน 6 แมกนิจูด หลายคนอาจจะรู้สึกว่าทำไมแผ่นดินไหวเกิดบ่อยเหลือเกิน แต่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า การเกิดแผ่นดินไหว หรืออาฟเตอร์ช็อก ในหลายพื้นที่ พบได้เป็นประจำทุกวัน โปรดอย่าตื่นตระหนก
หากดูข้อมูลจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ซึ่งรายงานเหตุแผ่นดินไหวทุกวัน ตลอดทั้งวัน ก็จะพบว่า เกิดแผ่นดินไหวมากถึง 48 ครั้งในช่วง 1 วันที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ความรุนแรงไม่เกิน 6 แมกนิจูด จะมีเพียงแผ่นดินไหวที่ตองกา ขนาด 7.0 แมกนิจูดเท่านั้นที่มีความรุนแรงมาก และอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.2 แมกนิจูดที่เกิดตามมา
ศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวแห่งชาติ (NEIC) ระบุ จุดเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกประมาณ 20,000 ครั้งต่อปี โดยเฉลี่ยประมาณ 55 ครั้งต่อวัน ซึ่งแม้จะพบการเกิดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมีอุปกรณ์ตรวจจับแผ่นดินไหวที่แม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ทำให้เราทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น และกว้างไกลขึ้น ก็อาจทำให้เรารู้สึกว่า เกิดเหตุภัยพิบัติบ่อยขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากแผ่นดินไหวทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นเป็นปกติแล้ว Economic Times รายงานว่า ยังมีแผ่นดินไหวที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเหมือง การสร้างเขื่อน การขุดเจาะใช้น้ำใต้ดิน รวมถึงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ สิ่งเหล่านี้ก็อาจไปกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน
ความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล
ตามรายงานของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) แผ่นดินไหวเกิดถี่ขึ้น หรือลดลงชั่วคราว ถือเป็นส่วนหนึ่งของความผันผวนตามปกติของอัตราการเกิดแผ่นดินไหว การที่แผ่นดินไหวเกิดทั่วโลกไม่ได้บ่งชี้ว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์ USGS ระบุว่า มีการตรวจพบการเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะแผ่นดินไหวเกิดขึ้นมากขึ้นจริง ๆ แต่เพราะมีเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวมากขึ้น และสามารถบันทึกแผ่นดินไหวได้มากขึ้น
ข้อมูลจาก USGS ที่เก็บข้อมูลมาเกือบ 100 ปี ระบุว่ามีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ขนาด 7.0 ขึ้นไป เกิดขึ้นทั่วโลกเฉลี่ยปีละประมาณ 16 ครั้ง ซึ่งค่าเฉลี่ยนี้ประกอบด้วยแผ่นดินไหวขนาด 7 ประมาณ 15 ครั้ง และแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ขึ้นไป 1 ครั้ง โดยแผ่นดินไหวที่เมียนมารุนแรงถึง 7.7 แมกนิจูด ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
โลกร้อนทำแผ่นดินไหวเกิดถี่ขึ้นหรือไม่
การวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีศักยภาพที่จะมีอิทธิพลต่อความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหวในบางภูมิภาค
ผลการศึกษาล่าสุดโดยนักธรณีวิทยา จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ที่ได้ศึกษาเทือกเขา Sangre de Cristo ทางตอนใต้ของรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนที่ยังไม่สงบ และพบหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างธารน้ำแข็งที่เล็กลง และการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนที่เพิ่มขึ้น
ผลการศึกษาชี้ว่า ในช่วงปลายยุคน้ำแข็ง น้ำหนักของธารน้ำแข็งที่เพิ่มขึ้นไปกดการเคลื่อนไหวบริเวณรอยเลื่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อธารน้ำแข็งเหล่านั้นละลาย และหดเล็กลง น้ำหนักของธารน้ำแข็งที่เคยหนักและกดรอยเลื่อนเอาไว้ก็ค่อย ๆ คลายลง ทำให้รอยเลื่อนมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น และมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้น
นั่นหมายความว่า หากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ Climate Change มีความรุนแรงขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลายมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอะแลสกา เทือกเขาหิมาลัย และเทือกเขาแอลป์ รวมถึงพื้นที่ที่ติดกับแผ่นธารน้ำแข็งเหล่านี้ อาจเผชิญกับแผ่นดินไหวมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วบริเวณรอยแตกของโลก