รีเซต

ศุลกากรภาค 2 จับเนื้อสุกรลักลอบนำเข้า 8 พันกก.มูลค่ากว่า 1.6 ล้าน

ศุลกากรภาค 2 จับเนื้อสุกรลักลอบนำเข้า 8 พันกก.มูลค่ากว่า 1.6 ล้าน
มติชน
7 กันยายน 2565 ( 14:39 )
81

วันนี้ (7 กันยายน 65) ที่บริเวณพื้นที่ตำบลขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม นายชนินทร์ ศุภรินทร์ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 และนายเรวัตน์ บางพา หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับหน่วยสืบสวนปราบปรามประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝปป.2 สปป.1 นำกำลังเข้าตรวจสอบรถยนต์กระบะบรรทุกเสริมคอก จำนวน 2 คัน คือ ยี่ห้อโตโยต้า สีเทา ทะเบียน ผต 5119 อุบลราชธานี และยี่ห้อมิตซูบิชิ สีขาว ทะเบียน บม1153 ศรีสะเกษ ภายหลังจากสืบทราบว่าได้ลักลอบนำเนื้อสุกรแช่แข็งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีเนื้อสุกรลักลอบนำเข้าทั้งสิ้น 8,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1.6 ล้านบาท

 

จากการสอบสวนคนขับรถยนต์ทั้งสองคันเบื้องต้นให้การว่าได้รับการว่าจ้างให้ขับรถยนต์บรรทุกเนื้อสุกรดังกล่าว มาส่งลูกค้าปลายทางที่จังหวัดมหาสารคาม โดยลักลอบนำเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านนอกพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลเพื่อป้องกันการลักลอบและนำตัวผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องมาลงโทษเพิ่มเติมต่อไป

นายชนินทร์ ศุภรินทร์ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 กล่าวว่า ตามที่นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้มีนโยบายมุ่งเน้นการป้องกันและปราบปราม การลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศ จึงได้มอบหมายให้นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร นายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 และนายกรณ์ชัย ปัญญาวัฒนพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมทางศุลกากรพื้นที่ภาคที่ 2 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรในพื้นที่ตรวจสอบและเข้มงวดปราบปรามการลักลอบการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง

 

ซึ่งการช่วยซ่อนเร้น จำหน่าย ซื้อ เนื้อสุกรลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 246 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของร่วมค่าอากร หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบ พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ ฯ จึงได้ทำการยึดของกลางทั้งหมด พร้อมทั้งควบคุมตัวผู้ต้องหาส่งสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


ทั้งนี้ เนื้อสุกรจากต่างประเทศนั้นประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการนำเข้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ASF และหลายประเทศยังมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค รวมไปถึงเป็นการปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรภายในประเทศอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง