กต.แจงปมนักโทษอิหร่านยึดข้อตกลงโอนตัวนักโทษไทย-อิหร่าน ไม่เกี่ยวกับปท.ที่สาม
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่สำนักข่าวของอิหร่านรายงานว่าทางการไทยส่งตัวนักโทษชายชาวอิหร่าน 3 คนที่ถูกจำคุกจากแผนวางระเบิดในกรุงเทพเมื่อปี 2555 เพื่อแลกกับการให้อิหร่านส่งตัวนักวิชาการสาวชาวออสเตรเลียเชื้อสายอังกฤษ ให้รัฐบาลออสเตรเลียว่า เป็นเรื่องระหว่างไทยกับอิหร่านเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศที่ 3 และไม่ใช่การแลกตัว แต่เป็นการโอนตัวนักโทษ ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องขังซึ่งต้องคำพิพากษา และความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา โดยมีนักโทษชาวอิหร่าน 2 คนที่ถูกโอนตัวตามสนธิสัญญาดังกล่าว และอีก 1 คน ได้ชดใช้โทษครบตามคำพิพากษาของศาลแล้ว จึงได้รับการปล่อยตัวไป
เมื่อถามว่าการโอนตัวนักโทษ กับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร นายธานี กล่าวว่า 2 ส่วนนี้มีความแตกต่างกัน เพราะความตกลงในการโอนตัวนักโทษระหว่างไทยกับประเทศนั้นๆ ต้องมาจากการที่ตัวนักโทษคนนั้นยื่นคำร้องขอกลับไปรับโทษในประเทศของตัวเอง ซึ่งทางการไทยมีขั้นตอนการพิจารณา ทั้งการส่งคำร้องไปยังประเทศนั้นๆให้พิจารณาอนุมัติ ซึ่งประเทศนั้นอนุมัติรับตัวกลับไป การโอนตัวนักโทษจึงจะเกิดขึ้น รวมถึงฝ่ายไทยมีคณะกรรมการพิจารณาคำร้อง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ทั้งนี้ ความตกลงเรื่องการโอนตัวนักโทษนั้น ไทยทำกับหลายประเทศ ไม่ใช่เฉพาะอิหร่าน ส่วนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศที่ได้ทำสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งมีเงื่อนไขหลายอย่าง อาทิ ต้องเป็นกรณีของข้อหาความผิดที่ต้องตรงกันทั้ง 2 ประเทศ และต้องไม่เป็นคดีที่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง
เมื่อถามว่าประเทศไทยได้อะไรจากการโอนตัวนักโทษชาวอิหร่านครั้งนี้ นายธานี กล่าวว่า ตามหลักการพิจารณาเรื่องการโอนตัวนักโทษนั้น ประโยชน์ที่นักโทษจะได้รับส่วนใหญ่เป็นเหตุผลทางมนุษยธรรม และเราใช้เวลาในการพิจารณาการขอโอนตัวนานพอสมควร แต่กรณีของนักโทษชายชาวอิหร่าน 2 คนนั้น ตนไม่แน่ใจว่าเขาได้ยื่นคำร้องขอโอนตัวเมื่อใด รวมถึงไม่ทราบว่ากระบวนการประสานงานในการโอนตัวนักโทษดังกล่าวเกิดขึ้นไปเมื่อใด และใช้เวลานานแค่ไหน