รีเซต

#SaveRalph เมื่อความสวยงามคือการทารุณกรรมสัตว์!

#SaveRalph เมื่อความสวยงามคือการทารุณกรรมสัตว์!
Ingonn
19 เมษายน 2564 ( 14:30 )
682
#SaveRalph เมื่อความสวยงามคือการทารุณกรรมสัตว์!

หลังจาก The Humane Society of the United States หรือ สมาคมมนุษยธรรมแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ปล่อยคลิปวิดีโอหนังสั้น ที่มีความยาว 3:53 นาที ในชื่อ Save Ralph สู่โลกโซเชียล ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กระแสต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์จากการทดลองผลิตภัณฑ์ความงามไปทั่วโลก

 

 


หนังสั้น “Save Ralph”

 

 

  • คลิปวิดีโอ Save Ralph นั้นเป็น แอนิเมชันแบบสต็อปโมชั่น ที่ได้การกำกับและเขียนบทโดยผู้กำกับหนังดังอย่าง Spencer Susser บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเจ้ากระต่ายตัวหนึ่งที่ชื่อว่า ราล์ฟ ที่มาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาที่อยู่ในห้องทดลองและสิ่งที่เขาต้องเจอในการทดลองต่างๆ จากการทดสอบของเครื่องสำอางต่างๆ จากสัตว์

 

  • หนังบอกเล่าความโหดร้ายในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่ใช้สัตว์ในการทดลอง เพื่อทดสอบความปลอดภัยก่อนนำมาใช้กับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ลิปสติก ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นกาย อายไลเนอร์ แชมพู ครีมกันแดด ฯลฯ ทำให้สัตว์เหล่านั้นต้องเจ็บปวดทรมาน พิการ หรือตาย มันถูกหยอดสารเคมีเข้าไปในดวงตา ถูกโกนขนเพื่อทาสารเคมี ส่งผลให้ตาขวาของมันมองไม่เห็น หูขวาไม่ได้ยิน และผิวถูกสารเคมีกัดเป็นแผล

 

  • ไม่ใช่แค่ราล์ฟ แต่ทั้งพ่อ แม่ พี่ชาย น้องสาว และแม้แต่ลูกของมัน ต่างก็ถูกนำมาใช้เป็นสัตว์ทดลอง และทุกตัวล้วน "ตายในหน้าที่" เช่นเดียวกับที่ราล์ฟเองก็ต้องเป็นอย่างนั้นในสักวัน

 

  • มีหลายประโยคที่ราล์ฟพูดและสร้างความสะเทือนใจให้คนดู เช่น ไม่เป็นไรหรอก มันเป็นงานของเรา เราเกิดมาเป็นสัตว์ทดลอง และมันทำให้เรามีความสุข (แต่ราล์ฟน้ำตาร่วงเมื่อพูดประโยคนี้)

 

  • ประโยคที่ราล์ฟบอกว่า มนุษย์นั้นสูงกว่ากระต่าย เพราะฉะนั้นถ้าสามารถเซฟมนุษย์แม้แค่คนเดียวให้ปลอดภัยจากการใช้เครื่องสำอางได้ พวกมันก็ดีใจแล้ว

 


หนังเรื่องนี้จบด้วยประโยคสั้น ๆ ที่ทรงพลังว่า "No animal should suffer and die in the name of beauty" ไม่ควรมีสัตว์ตัวไหนต้องทนทุกข์ทรมานและตายในนามของความงาม พร้อมกับขอให้ทุกคนช่วยกันแบนเครื่องสำอางที่ทดลองในสัตว์

 

 


ถึงแม้ว่ากฎห้ามทดลองในสัตว์บังคับใช้ใน 40 ประเทศแล้ว แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่ยังคงมีการผลิตเครื่องสำอางโดยทดลองกับสัตว์อยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ประธานกรรมการองค์การ Humane Society International กล่าวว่า “Save Ralph เป็นสัญญาณเตือนให้เราตระหนักถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์ทดลองเครื่องสำอาง ซึ่งบัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องร่วมมือกับยุติการทารุณกรรมนี้พร้อมกันทั่วโลกเพราะทุกวันนี้เรามีผลิตภัณฑ์ทางเลือกจำนวนมากที่เชื่อถือได้ และมีความปลอดภัยในการใช้งานโดยไม่ทำการทดลองกับสัตว์ ดังนั้นจึงไม่ควรมีข้ออ้างใด ๆ ที่จะต้องสร้างความทรมานให้แก่สัตว์ อย่าง ราล์ฟ ในกระบวนการทดลองเครื่องสำอางหรือส่วนผสมต่าง ๆ”

 

 

#SaveRalph ส่งสัญญาณไกลไปทั่วโลก

 

 

 

  • หนังสั้นเรื่องนี้ผลิตโดยคนในวงการภาพยนตร์และฮอลลีวู้ด เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้สัตว์ทดลอง หนังได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ และกลายเป็นไวรัล เฉพาะในยูทูบมียอดวิวมากกว่า 2.5 ล้าน จนแฮชแท็ก #SaveRalph ขึ้นเทรนด์โลก รวมทั้งในประเทศไทย

 

  • มีคนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้สัตว์ทดลองที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น สัตว์ทดลองมีทั้งหนู แมว สุนัข กระต่าย แต่ในเครื่องสำอางนิยมใช้กระต่าย เพราะผิวตอบสนองไวกว่าสัตว์ชนิดอื่น และมีผิวหนังใกล้เคียงมนุษย์ที่สุด

 

  • ปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีอื่น ๆ ในการทดสอบเครื่องสำอางโดยไม่ต้องใช้สัตว์ นั่นคือการทดสอบกับเซลล์เพาะเลี้ยง ทำให้หลายแบรนด์หันมาใช้การทดสอบวิธีนี้มากขึ้น แต่ก็ยังมีหลายแบรนด์ใช้สัตว์อยู่

 

  • หลายประเทศแบนเครื่องสำอางที่ทดลองกับสัตว์ บางประเทศไม่แบนแต่ไม่สนับสนุน และบางประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญจริงจัง

 

  • ประเทศจีน มีกฎหมายบังคับให้แบรนด์ต่างชาติที่เข้ามาขายในจีน ต้องผ่านข้อกำหนดด้านความปลอดภัยโดยการทดสอบกับสัตว์ก่อน อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่าจีนจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ในเดือนพฤษภาคม 2021 นี้

 

  • แนะนำวิธีเลือกซื้อเครื่องสำอางที่ไม่ใช้สัตว์ทดลอง โดยให้มองหาสัญลักษณ์รูปกระต่าย ซึ่งมักมาพร้อมข้อความ "Cruelty-Free" หรือ "Not Tested in Animals" 

 

  • มีการลิสต์รายชื่อแบรนด์ต่าง ๆ ที่ทดลองในสัตว์และไม่ทดลองในสัตว์มาใช้พิจารณาในการเลือกซื้อครั้งต่อไป 

 


อีกมุมจากคนทำงานกับสัตว์ทดลอง

 

  • คนที่ทำงานกับสัตว์ทดลองออกมาแชร์อีกมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การใช้สัตว์ทดลองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค วัคซีน เครื่องสำอาง หรือเวชภัณฑ์ ล้วนต้องผ่านกระบวนการทดสอบกับสัตว์ก่อน จึงจะนำมาใช้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย

 

  • ทุกวันนี้กฎหมายคุ้มครองสัตว์เข้มแข็งมาก การจะทดลองในสัตว์ต้องผ่านคณะกรรมการหลายภาคส่วน ไม่ใช่ใครจะทำก็ทำได้ โครงการไหนปฏิบัติกับสัตว์ทดลองไม่ดีอาจถึงขั้นโดนสอบสวนได้

 

  • สัตว์ทดลองเหล่านี้ไม่ใช่ไปจับมาเอง แต่ต้องมาจากแหล่งเพาะเลี้ยงที่เลี้ยงดูอย่างดี ต้องดูแลไม่ให้เกิดความเครียด ไม่อย่างนั้นจะส่งผลต่องานวิจัย มีเจ้าหน้าที่หรือสัตวแพทย์คอยตรวจร่างกายตลอด ไม่มีการเอามาล็อกคอหรือเอามาทรมานเหมือนที่เห็นในสื่อต่าง ๆ

 

  • อีกทั้งสัตว์ทดลองเหล่านี้ก็มีราคาแพง เช่น กระต่ายตัวละเกือบ 10,000 บาท เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้อย่างคุ้มค่า ไม่มีการใช้สัตว์ทดลองแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ แน่นอน

 

  • บางงานวิจัยสามารถเลี่ยงไปทำกับเซลล์เพาะเลี้ยงได้ แต่บางงานยังจำเป็นต้องทดลองในสัตว์อยู่ เพราะเซลล์เพาะเลี้ยงนั้นบอกอาการทางคลินิกไม่ได้ 

 

  • ถ้าสัตว์บาดเจ็บหรือทรมานจะทำการุณยฆาตให้ทันที ที่มีคนบอกว่าใช้เสร็จนำไปเป็นอาหารจระเข้นั้นไม่จริง นักวิจัยเองก็ทำใจยากเวลาที่ต้องการุณยฆาตพวกมัน เพราะเลี้ยงมากับมือ แต่นี่คืองาน และถ้าไม่มีงานวิจัย โลกก็ไม่พัฒนา

 

 

“Beauty is pain” ความสวยงามแลกมาด้วยความเจ็บปวด เป็นความเจ็บปวดของเหล่า “สัตว์” ที่ถูกนำมาเป็นตัวทดลองหรือเรียกอีกอย่างว่าผู้ทดลองใช้อันดับแรก โดยส่วนผสมและสูตรต่างๆ ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เราใช้กันนั้นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและแก้ไขเพื่อให้ได้สูตรสำเร็จที่สามารถวางขายและใช้ได้จริงกับผู้บริโภค 

 

ดังนั้นเลยมีการทดสอบความเป็นพิษต่อผิวหนังในกระบวนการ Animal Testing หรือการทดลองกับสัตว์เกิดขึ้น ซึ่งจะทดสอบทั้งหมด 4 อย่างด้วยกัน ประกอบด้วย

 

1.Skin Irritation Test : การทดสอบการระคายเคืองต่อผิว


2.Phototoxicity Test : การทดสอบความเป็นพิษเมื่อเจอแสง


3.Ocular Irritation Test : การทดสอบการระคายเคืองต่อดวงตา


4.Transdermal Permeability Test : การทดสอบความสามารถในการซึมซาบเข้าสู่ผิวหนัง

 

แต่ปัจจุปันบริษัทเครื่องสำอางหลายแห่งได้เห็นถึงความสำคัญ และต้องการยุติการทารุณกรรมสัตว์เหล่านี้โดยรณรงค์และส่งเสริมเรื่อง “ความสวยงามที่ไม่ต้องขึ้นอยู่บนความเจ็บปวด” ซึ่งมีการแสดงออกโดยการใช้สัญลักษณ์ต่อไปนี้ ประกอบด้วย Cruelty Free, Leapping Bunny, No Animal Testing และ Vegan Product 

 

 

ข้อมูลจาก Ethical Pixie , เพจเฟซบุ๊ก Poetry of Bitch . เฟซบุ๊ก แมน เมือง , VEGAN RABBIT , zipeventapp

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง