ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ แจง นศ.พยาบาลรับผลข้างเคียงหลังฉีดซิโนแวค 7 ราย ชี้หายเองได้
กรณีองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกแถลงการณ์เรื่องอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยการฉีดวัคซีนซิโนแวค ใจความระบุว่า นักศึกษาคณะพยาบาล ชั้นปีที่ 2 ได้รับวัคซีนซิโนแวคจากโรงพยาบาล (รพ.) ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 23 เมษายน และ วันที่ 5 พฤษภาคม รวม 88 ราย ในจำนวนนี้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 7 ราย พร้อมระบุด้วยว่า #นักศึกษาต้องได้รับวัคซีนที่ดีและมีคุณภาพ ว่า ที่ผ่านมา รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ดำเนินการฉีดวัคซีนซิโนแวคกว่า 6-7 พันโดส ล่าสุดทราบว่ามีนักศึกษาที่รวบรวมข้อมูลระบุว่ามีผู้ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการข้างเคียง 7 ราย แต่ทุกรายสามารถดูแลให้หายกลับมาเป็นปกติได้ใน 1-2 ชั่วโมง ไม่ได้มีอาการที่รุนแรง ต้องนอน รพ.แต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ กล่าวว่า รพ.ธรรมศาสตร์ฯ มีคณะกรรมการดูแลภาวะผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนอยู่แล้ว มีการดูข้อมูลกันอยู่ เข้าใจว่าอยู่ในฐานใหญ่ ภาพรวมไม่ได้มีอาการหรือผลข้างเคียงที่เจอปกติ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตรงนี้เข้าใจว่า เป็นการรวบรวมข้อมูลของนักศึกษาเองบางส่วน ซึ่งในระบบการเฝ้าระวังอาการข้างเคียงนั้นจะมีการเฝ้าระวังอยู่ 3 ฐาน คือ ผ่านระบบ “หมอพร้อม” ที่มีการติดตามอาการในวันที่ 1 วันที่ 7 วันที่ 28 หลังฉีดวัคซีน ฐานต่อมาเป็นฐานของรพ.ที่ตรวจสอบติดตามในส่วนของ รพ. ซึ่งจะมีข้อมูลที่รวบรวมไว้มากสุด แม่นยำที่สุด
“และอีกฐานหนึ่ง ทางนักศึกษาอาจจะมีการรวมตัวกันบางคณะ หรือบางกลุ่มเพื่อรวบรวมข้อมูล แล้วทำกรุ๊ปปิ้งออกมา ซึ่งเมื่อเรานำข้อมูลจากทั้ง 3 ฐาน มารวมกันก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูลในภาพใหญ่ได้ กรณีที่เกิดขึ้นหลักๆ คงต้องดูว่าตอนนี้เรื่องของอันตรายร้ายแรง ซึ่งยังไม่มี แต่เราจะเข้าไปดูเรื่องของประวัติ เรื่องความต้องการเพิ่มของใน 7 ราย ประเด็นที่ 2 คือการพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ว่าจะให้เป็นชนิดเดิม หรือหากคิดว่าเป็นผลข้างเคียงรุนแรงก็อาจจะมีการเปลี่ยนชนิดวัคซีนในเข็มที่ 2 ให้ คณะกรรมการของ รพ.จะมีการพิจารณาอีกที โดยอาจจะทำ ซีทีสแกน หรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI) สมอง เพิ่มเติม รวมถึงเปลี่ยนชนิดวัคซีน เพราะตอนนี้ที่ได้รับจากรัฐบาลมานั้น มีทั้งซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ที่จะได้มาในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ด้วย” นพ.พฤหัส กล่าว