รีเซต

สพฐ.เดินเครื่องออกข้อสอบครูผู้ช่วยปี'63 มั่นใจไร้ทุจริต

สพฐ.เดินเครื่องออกข้อสอบครูผู้ช่วยปี'63 มั่นใจไร้ทุจริต
มติชน
21 เมษายน 2563 ( 11:45 )
92
 

สพฐ.ตั้งคณะกรรมการออกข้อสอบครูผู้ช่วย ยกร่างเกณฑ์ประเมินฝึกสอน ดูผลงาน มั่นใจข้อสอบไม่รั่ว ไม่ทุจริต เพราะไม่คิดจะทำ ชี้ไม่กลับไปกลับมา แค่ขัดตาทัพชั่วคราวรอปรับใหญ่ใช้ข้อสอบเดียวกับก.พ.  ‘ณัฐพล’ ย้ำรอบคอบ เฟ้นคนเก่งคนดีเป็นแม่พิมพ์

 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นายอำนาจ  วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)  เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มีนายณัฏฐพล  ทีปสุวรรณ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2563 

 

โดยปรับวิธีการสอบภาค ก มาใช้แนวทางการสอบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( ก.พ.)  ให้มีการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการประเมินภาค ก และภาค ข เป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ค เป็นระยะเวลา 2 ปี  การประเมิน ภาค ค ให้ประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ การสอบปฏิบัติการสอน  นั้น  มติดังกล่าว มอบหมายให้ ส่วนราชการหรือสพฐ. ดำเนินการออกข้อสอบ  และจัดทำหลักเกณฑ์การประเมิน ภาค ค สอบสัมภาษณ์  ซึ่งจะต้องประเมินจากพอร์ตโฟริโอ  หรือแฟ้มสะสมงาน และการฝึกปฏิบัติการสอน  โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวร่วมกัน

 

นายอำนาจ กล่าวต่อว่า  อย่างไรก็ตาม การให้สพฐ. มาออกข้อสอบครูผู้ช่วยอีกครั้ง หลังจากได้มอบอำนาจให้ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่ละแห่งดำเนินการเองนั้น ไม่ใช่ว่าส่วนกลางกลับไป กลับมา แต่เป็นมติของก.ค.ศ. ที่อนาคตใช้ข้อสอบก.พ. ในการสอบครูผู้ช่วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับทางก.พ. ดังนั้นระหว่างรอยต่อจึงให้สพฐ. กลับมาออกข้อสอบไปก่อน  ซึ่งส่วนตัวไม่กังวลเรื่องปัญหาการทุจริต หรือข้อสอบรั่ว เพราะเราไม่คิดจะทำ และทำตั้งใจจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใสเป็นธรรม มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาทุจริตเกิดขึ้นแน่นอน

 

“รัฐมนตรีว่าการศธ. ให้นโยบาย ทำทุกอย่างให้รอบคอบที่สุด เพื่อให้สามารถเลือกคนเก่ง คนดีมาเป็นครู ผมไม่กังวลว่าจะเกิดปัญหาการทุจริต หรือข้อสอบรั่วจากส่วนกลางดังเช่นในอดีต เพราะหากเราไม่คิดทำ เรื่องทุจริตก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ดังนั้นการจัดทำหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน  เพราะต้องทำให้รัดกุมที่สุด โดยเฉพาะการประเมินภาค ค ทีใช้พอร์ตโฟริโอ และประเมินการฝึกปฏิบัติการสอน  ไม่ให้เกิดข้อครหา ว่าเป็นเรื่องที่ใช้ความรู้สึกตัดสิน ส่วนข้อสอบครูผู้ช่วยสพฐ. จะออกเอง หรือให้มหาวิทยาลัยออกให้นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ ต้องหารือกับคณะกรรมการเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน”นายอำนาจกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง