รีเซต

สปสช.ปรับระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด สายด่วน 1330 ทำหน้าที่แต่คัดกรองโรคเท่านั้น!

สปสช.ปรับระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด สายด่วน 1330 ทำหน้าที่แต่คัดกรองโรคเท่านั้น!
มติชน
30 มีนาคม 2565 ( 15:30 )
65
สปสช.ปรับระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด สายด่วน 1330 ทำหน้าที่แต่คัดกรองโรคเท่านั้น!

วันนี้ (30 มีนาคม 2565) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการปรับแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งแนวทางผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OPD Self Isolation) หรือ เจอ แจก จบ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา และการปรับยูเซ็ป (UCEP) โควิด เป็นยูเซ็ป พลัส (UCEP Plus) ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 โดยให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสีเหลืองและสีแดง เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินที่ใช้สิทธิยูเซ็ป หรือรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ทุกที่ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่เป็นกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย เข้ารักษาตามแนวทางเจอ แจก จบนั้น ที่ผ่านมา สปสช.ได้ปรับบทบาทสายด่วน 1330 รองรับตามแนวทางดังกล่าว โดยเน้นเป็นการคัดกรองอาการเพื่อประเมินความเสี่ยง เมื่อผู้ติดเชื้อโทรศัพท์เข้าไปที่สายด่วน 1330 กด 14 จะเป็นระบบคัดกรองอาการ เมื่อพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงก็จะเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป กรณีที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แนะนำให้ไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือใช้แนวทาง เจอ แจก จบ

 

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากนั้น ยังได้เปิดสายด่วน 1330 กด 18 สำหรับคัดกรองอาการและประเมินความเสี่ยง ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่ม 608 รวมเด็ก 0-5 ปี คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง

 

ก่อนหน้านี้ สายด่วน 1330 จะรับลงทะเบียนเข้าระบบ HI และรายใด หากมีอาการรุนแรงจะเข้าสู่ระบบการประสานหาเตียงต่อไป เฉพาะผู้ป่วยที่เป็นสิทธิบัตรทองและสิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนสิทธิอื่นให้ติดต่อสายด่วนของแต่ละสิทธิ แต่เนื่องจากพบปัญหาว่า ผู้ป่วยสิทธิอื่นยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงการรักษา ดังนั้น สปสช.จะประสานให้ผู้ป่วยกลุ่ม 608 สิทธิอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิของตัวเองไว้ด้วย เพื่อเป็นทางเลือกในการให้ความช่วยเหลือและลดการรอคอย” นพ.จเด็จ กล่าว

 

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ขอย้ำว่า ระบบของสายด่วน สปสช. 1330 เป็นระบบเสริมในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อช่วยแต่ละจังหวัดในการรับเรื่องจากผู้ป่วย ที่ผ่านมา แต่ละจังหวัดได้ออกแบบระบบหลักเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อในจังหวัดของตน ดังนั้น ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังสามารถติดต่อตามรายละเอียดของแต่ละจังหวัดได้ โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งจะมีรายละเอียด ขั้นตอน และเบอร์โทรศัพท์ในการประสานงานระบุไว้

“ในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์กรุงเทพมหานคร (กทม.) (https://main.bangkok.go.th/) และเฟซบุ๊ก กทม. โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ (https://www.facebook.com/prbangkok) รวมถึงเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT หรือคลิก https://bit.ly/3Iuw7Si ได้เช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีระบบของกรมการแพทย์และภาคีเครือข่าย สำหรับลงทะเบียนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย สามารถลงทะเบียนได้เวลาทำการ 08.30-16.30 น. https://onestopcovid.dms.go.th/oss/index.jsp ด้วยเช่นกัน” นพ.จเด็จ กล่าวย้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง