รีเซต

ประมงพื้นบ้านร่ำไห้ ขายได้วันละ 60 บาท วอนรัฐบาล เหลียวแลบ้าง

ประมงพื้นบ้านร่ำไห้ ขายได้วันละ 60 บาท วอนรัฐบาล เหลียวแลบ้าง
ข่าวสด
21 มกราคม 2564 ( 15:26 )
85
ประมงพื้นบ้านร่ำไห้ ขายได้วันละ 60 บาท วอนรัฐบาล เหลียวแลบ้าง

ชาวตรังโอด เดือดร้อนหนัก 'โควิด' ทำอาหารทะเลขายไม่ได้ ต่อให้เร่ขายในหมู่บ้าน วันละ 60 บาทยังลำบาก โอดรัฐบาลไม่เคยเหลียวแล ชาวประมงพื้นบ้าน

 

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 ชาวประมงในพื้นที่บ้านปากคลอง ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง ร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤติ โควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อจากจ.สมุทรสาคร ทำให้ประชาชนยังเลี่ยงที่จะไม่รับประทานอาหารทะเล จนทำให้สัตว์ทะเลที่ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไม่ได้เป็นพื้นที่เสี่ยงโดนผลกระทบไปด้วย

 

เนื่องจากไม่มีใครรับซื้อ ถึงเอาไปเร่ขายตามหมู่บ้านชุมชนใกล้เคียงก็ขายได้เพียงเล็กน้อย ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านส่วนหนึ่งยึดอาชีพชาวประมงอย่างเดียว เมื่อต้องเจอสถานการณ์แบบนี้หลายรายเหมือนคนตกงานไม่มีเงินเลี้ยงครอบครัวจากที่เคยมีรายได้วันละ 100-200 บาท แต่ปัจจุบันนี้วันละ 60 บาทก็แทบจะหาไม่ได้ แม่บ้านที่เคยรับแกะปูแกะกุ้งก็ต้องตกงานเพราะทางผู้ประกอบการงดสั่งออเดอร์

 

นายวิทยา หยาจิ อายุ 67 ปี ชาวบ้าน ม.8 ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง อาชีพประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ตั้งแต่เกิด โควิด-19 ที่จ.สมุทรสาคร ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านของจ.ตรัง ได้รับผลกระทบชาวบ้านออกหาปลาในทะเลอันดามัน ทำมาหากินไม่ได้ ซึ่งตนการันตีได้เลยว่าที่นี่ไม่มี โควิด-19

 

เนื่องจากปลาที่นี่ไม่ส่งผ่านแพใหญ่ที่จ.สมุทรสาคร และไม่นำสัตว์ทะเลข้างนอกเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวประมงที่นี่ 90% เป็นชาวประมงพื้นบ้านซึ่งได้รับความเดือดร้อน อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านเครื่องมือ เรื่องอาชีพ เงินสนับสนุน ในช่วงหน้าแล้งชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบไม่มีอะไรจะกิน ซึ่งที่ผ่านมาทางภาครัฐไม่เคยเข้ามาดูแลให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือเลย

 

ด้านนายสุเชาว์ รัตนตรัง อายุ 44 ปี ชาวบ้าน ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง อาชีพประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 มาแล้วในรอบแรก สิ่งที่ได้รับผลกระทบของชาวประมงคือนโยบายของรัฐที่ประกาศกฎหมายออกมาหลายตัวเพื่อยับยั้ง โควิด-19 ทำให้ชาวประมงประกอบอาชีพได้แต่ขายไม่ได้ สัตว์ทะเลราคาตก ทำให้เดือดร้อนทั้งเจ้าของแพและลูกน้อง

 

พอมาครั้งนี้กระทบหนักมากยิ่งขึ้นเพราะเหตุเกิดที่แพมหาชัยทำให้พี่น้องชาวประมงลำบากอยู่แล้วเพราะรัฐบาลไม่ค่อยสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้าน อย่างชาวสวนยางมีการประกันรายได้ แต่ชาวประมงไม่มีใครหันมามองจนมันเกิดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยมากในเรื่องแบบนี้

 

ทั้งนี้สัตว์น้ำที่ชาวประมงพื้นบ้านจับได้ ก็ไม่ส่งไปมหาชัยแต่จะส่งตรงไปโรงงานห้องเย็นที่เดียว ซึ่งที่จ.ตรัง มีรับซื้อ มีโรงงานห้องเย็นเพียงห้องเดียวซึ่งกดราคาและเลือกเกรดสินค้า ส่วนปูไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพราะกลัว โควิด ปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเล แต่ในความเป็นจริงอาหารทะเลที่นี่ไม่ผ่านมหาชัย

 

 

ด้านนางยูนะ บุญญา อายุ 57 ปี ชาวบ้าน ม.9 ต. บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง กลุ่มแม่บ้านรับจ้างแกะปูและกุ้ง กล่าวว่า ตั้งแต่เจอวิกฤติ โควิด-19 ได้รับผลกระทบมาก รายได้ลดลงมาก จากรายได้วันละ 100-200 บาท ปัจจุบัน 60 บาท ก็แทบจะไม่ได้

 

ซึ่งกลุ่มแม่บ้านที่มารับจ้างแกะปูและกุ้งมีประมาณ 50 คน ตอนนี้ไม่มีรายได้จากไหนเลย อีกทั้งช่วงนี้ทางครอบครัวก็ไม่ได้ออกจับสัตว์น้ำเลย จึงอยากให้ทางภาครัฐช่วยเหลือเยียวยา และช่วยหาตลาดปู ตลาดรับซื้ออาหารทะเลให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนจากขาดรายได้เลี้ยงชีพเป็นอย่างมาก วิงวอนรัฐบาล หันมาช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านบ้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง