1 เม.ย.เลิกตรึงแอลพีจี โยกเงินกองทุนอุ้มดีเซล ปลัดกระทรวงพลังงานลั่นช่วยเหลือรายกลุ่ม
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ร่วมกันแถลงสถานการณ์พลังงานที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านราคาที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา
นายกุลิศกล่าวว่า สถานการณ์ LPG กระทรวงพลังงานได้ตรึงราคาไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ปัจจุบันจะเข้าสู่เดือนมีนาคม 2565 หรือเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว เงินที่ใช้ในการตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่อถัง จากราคา 363 บาทต่อถัง เหลือ 318 บาทต่อถัง เพื่อเป็นการช่วยผู้มีรายได้น้อย หรือหาบเร่แผงลอยต่างๆ เกือบ 2 ปี ใช้เงินไปกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนราคาจริง ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 432 บาทต่อถัง แต่กระทรวงยืนยันที่จะตรึงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถัง เนื่องจากผู้มีรายได้น้อย หาบเร่แผงลอยที่ประกอบอาชีพในการขายอาหารตามถนนต่างๆ หรือขายให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยได้ซื้อตรงนี้ล้วนแต่ใช้ก๊าซ LPG ทั้งสิ้น
นายกุลิศกล่าวว่า กระทรวงพลังงานจึงจะมีการตรึงราคาไว้จนถึง 31 มีนาคม 2565 หลังจากนั้น 1 เม.ย.นี้ อาจจำเป็นต้องขยับราคาขึ้น ตามแผนคือ ขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ทุกไตรมาส หรือปรับขึ้นเป็น 333 บาทต่อถังขนาด 15 กก. แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาในช่วงนั้น และปัญหาค่าครองชีพของประชาชนว่าจะเอื้ออำนวยในการขึ้นราคาหรือไม่ และหากช่วยเหลือเป็นรายกลุ่ม ก็อาจจะเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จากเงินช่วยเหลือปัจจุบันอยู่ที่ 45 บาท โดยในส่วนของเงินเพิ่ม 55 บาทนี้ ทางกระทรวงพลังงานก็จะพยายามหาเงินช่วยเหลืออยู่
นายกุลิศกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงพลังงานมีเครื่องมือตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.เชื้อเพลิง และมีกองทุนนำมันเชื้อเพลิงในการดูแล บริหาร โดยกระทรวงห้ามมีเงินอยู่ในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงห้ามเกิน 4 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาได้นำเงินส่วนหนึ่งไปตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 318 บาทต่อถัง พอเกินเหตตุการณ์น้ำมันขึ้นมาได้มีการนำเงินไปตรึงราคาน้ำมันดีเซลด้วย ในการตรึงราคน้ำมันดีเซล ได้ตรึงไป 3.79 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลจริงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อลิตร แต่เราใช้เงินในการตรึงราคาให้อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ใช้เงินกองทุนไปประมาณ 7,000 ล้านบาทเดือน แต่ถ้าต้องตรึงราคาน้ำมันตามที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยร้องขอให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 25 บาทต่อลิตร จะส่งผลให้กระทรวงแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวได้
นายกุลิศกล่าวว่า เรื่องมาตรการรองรับกับสถานการณ์ด้านราคาพลังงานเห็นได้ว่ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 กระทรวงอยากให้ทุกคนวางใจ เพราะกระทรวงได้เตรียมแผนการรองรับไว้แล้ว แต่ในมาตรการนี้อาจจะยังไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง เนื่องจากกมารการต่างๆ ต้องมีการประสานหาแหล่งเงินที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนมาตรการต่างๆ ขณะนี้ทางกระทรวงและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างวางแผนดำเนิการแต่ละเรื่องอยู่ คาดว่าภายในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ทุกอย่างจะเรียบร้อย หลังจากนั้น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้แถลงรายละเอียดมาตรการที่กระทรวงเตรียมไว้รองรับ นโยบายหลักคือจะเน้นช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเป็นรายกลุ่มไป ต้องใช้เงินช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น มากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องกู้มาดูแลราคาพลังงานที่ 3 หมื่นล้านบาทคาดว่าเงินกู้ดังกล่าวจะข้ามาในช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่มาของเงินกำลังหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณว่าจะนำเงินส่วนใดมาดูแล เช่น อาจจะมาจากงบกลางของรัฐบาล ที่เป็นรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นต้น
“รัฐบาลไทยพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ถามว่าทำไมต้องเป็นราคาน้ำมนดีเซล เพราะ 60% ของผู้ใช้น้ำมันทั้งหมดของประเทศจะใช้น้ำมันดีเซลเพื่อการขนส่ง อาทิ รถโดยสาร และรถส่งสินค้า เป็นต้น รัฐบาลจึงมาโฟกัสอยู่ที่น้ำมันดีเซล และที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากระทรวงมีการบริหารตามสถานการณ์ จาก B7 B10 B20 ลดลงมาเหลือ B7 กลับไป B10 และกลับมาเหลือ B5 เราจะพิจารณาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าช่วงไหน อยู่ภายใต้หน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน ก็จะมีการดำเนินการตามขึ้นตอนไป” นายกุลิศกล่าว และว่า กลุ่ม ปตท.โดย PRISM ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยปีนี้ปรับขึ้นเป็น 78-80 เหรียญต่อบาร์เรล และประเมินราคาช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน 2565 อยู่ที่ประมาณ 88-93 เหรียญต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาพลังงานอื่นๆ ก็ขยับขึ้นเกินคาด เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากโควิด-19 ปัญหาขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทอ่อนค่า
นายกุลิศกล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท โดยอุดหนุนก๊าซหุงต้มไปแล้ว 24,669 ล้านบาท และประเมินว่าหากยังอุดหนุนดีเซลและแอลพีจีในราคาเช่นนี้ต่อไปเงินกองทุนฯจะไหลออกราวกว่า 8 พันล้านบาทต่อเดือน กรอบเงินกู้กองทุนที่ 3 หมื่นล้านบาท ก็จะไม่เพียงพอ