เลิกอุ้มดีเซลปล่อยเกิน 30 บ.เริ่ม 1 พ.ค. เหตุกองทุนเกลี้ยงลุ้นกู้ 4 หมื่นล.รับมือ
เมื่อวันที่ 11 เมษายน นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ช่วงปลายเมษายนนี้ กองทุนจะพิจารณาปรับขึ้นราคาดีเซลเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 แต่จะเป็นเท่าไหร่ต้องขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก อาทิ ปัจจุบันอุดหนุนประมาณ 8 บาทต่อลิตร กองทุนอาจอุดหนุน 4 บาทต่อลิตร หรือเท่าไหร่ต้องพิจารณาอีกครั้ง แม้ตอนนี้ราคาเริ่มลดลง แต่ต้องเก็บเงินเข้ากระเป๋าของกองทุน หากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยุติลง ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลง แต่ช่วงแรกจะไม่ลงทันที นอกจากนี้วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 จะครบกำหนดมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาท ภาระค่าใช้จ่ายเงินในกองทุนจะกลับมาสูงอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบัน กองทุนมีกระแสเงินสด อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่สถานะติดลบแล้วกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท
“หากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลงมาต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อยากทำความเข้าใจกับประชาชนว่าราคาน้ำมันดีเซลในช่วงแรกอาจจะไม่ลดลงจาก 30 บาทต่อลิตรมากนัก จะให้ลงมาที่ 25 บาทต่อลิตร ทันทีคงเป็นไปยาก เพราะต้องนำเงินมาเติมเข้ากองทุนไว้ใช้จ่ายในยามวิกฤต เพราะปัจจุบันเรามีเงินเข้าระบบเดือนละ 2 พันล้านบาท แต่ต้องจ่ายเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท จึงต้องกู้เงินเข้ามาเสริม” นายวิศักดิ์กล่าว
นายวิศักดิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการกู้เงินก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ช่วยยืนยันกับสถาบันการเงินเพื่อทำความเข้าใจถึงบทบาทและสถานะกองทุนน้ำมัน ว่ากองทุนน้ำมันอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล ทำให้สถาบันการเงินมั่นใจเรื่องการปล่อยเงินกู้มากยิ่งขึ้น มั่นใจว่าวันที่ 30 เมษายนนี้ จะมีสถาบันการเงินยื่นข้อเสนอปล่อยกู้ 2 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน ได้เงินเดือนมิถุนายน 2565 ขณะที่ก้อนที่ 2 ตามแผนจะกู้อีก 1 หมื่นล้านบาท และก้อนที่ 3 อีก 1 หมื่นล้านบาท รวม 4 หมื่นล้านบาท
นายวิศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้การสนับสนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานของประเทศ โดยพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็นต้องใช้ พร้อมสร้างความมั่นใจแก่สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนมาตรา 6 (2) ขณะนี้กรมธุรกิจพลังงาน อยู่ระหว่างทำตัวเลขส่งให้กับกระทรวงการคลัง ว่า กองทุนควรจะขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเท่าไหร่ เร็วๆ นี้จะได้ข้อสรุป
นายวิศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อให้กองทุนมีศักยภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2563-67 โดยหารือกับกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลรอบด้านทั้งปัจจัยบวก ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อราคาน้ำมันโดยใช้ฐานราคาดีเซลลิตรละไม่เกิน 30 บาท ข้อมูลปริมาณการใช้น้ำมันทั้งภาคขนส่ง รถสาธารณะ รวมถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ภาระทางการคลัง และแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนแผนฯ คาดว่าได้ข้อสรุปชัดเจนภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2565 เบื้องต้นจะศึกษาการกำหนดระดับการตรึงราคาว่า ควรจะอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตรต่อไป หรือควรจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 32-33 บาท หรือ 35 บาทต่อลิตร ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขราคาน้ำมันตลาดโลก