รีเซต

รู้จักโฮม-คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน-ชุมชน ปลดล็อกวิกฤตขาดแคลนเตียง

รู้จักโฮม-คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน-ชุมชน  ปลดล็อกวิกฤตขาดแคลนเตียง
มติชน
9 กรกฎาคม 2564 ( 12:58 )
114
ปัญหาการขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขณะนี้กล่าวได้ว่ารุนแรงมากขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ

 

 

 

จากข้อมูลของกรมการแพทย์ ณ วันที่ 4 มิ.ย.2564 มีผู้ป่วยครองเตียง 19,430 ราย แต่ ณ วันที่ 4 ก.ค.2564 จำนวนผู้ป่วยครองเตียงเพิ่มเป็น 28,247 ราย หรือเกือบ 1 หมื่นคน ส่วนมากเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย ส่วนผู้ป่วยวิกฤต วันที่ 4 มิ.ย. มี 657 ราย แต่วันที่ 4 ก.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 1,139 ราย และผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มจาก 240-250 ราย เป็น 370 ราย

 

 

 

นอกจากเตียงไม่พอแล้ว บุคลากรสาธารณสุขก็อยู่ในภาวะอ่อนล้าเป็นอย่างมาก การขยายเตียงเพิ่มจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะจะไม่มีกำลังคนไปดูแลในส่วนของเตียงที่เพิ่มขึ้นมาอีก

 

 

 

ดังนั้น ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา จึงมีการพูดถึงการรักษาที่บ้าน หรือโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) และการรักษาในชุมชน หรือ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) มากขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้คือ ให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านหรือในชุมชน แต่ได้รับการดูแลจากแพทย์ผ่านระบบวิดีโอคอล โดยจะมีการส่งอุปกรณ์วัดไข้และระดับออกซิเจนในเลือดไปให้ใช้ หากอาการไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็จะส่งยาไปให้ที่บ้าน มีการส่งอาหารให้ 3 มื้อ/วัน และหากอาการทรุดหนัก มีช่องทางฉุกเฉินติดต่อให้โรงพยาบาล (รพ.) ส่งรถไปรับเพื่อนำเข้าไปรักษาต่อใน รพ.อย่างรวดเร็ว

 

 

 

ในส่วนของโฮม ไอโซเลชั่นนั้น เมื่อเดือนที่ผ่านมา รพ.ราชวิถี ในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้นำร่องใช้กับผู้ป่วย 18 ราย ขณะนี้อาการดีขึ้นหมดแล้ว ส่วนการดูแลกันเองในชุมชน มีทีมงานของสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี หรือไอเอชอาร์ไอ (IHRI) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน อาทิ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิดวงประทีป ฯลฯ ดำเนินการฝึกอบรมแกนนำในชุมชนเกี่ยวกับวิธีการดูแลผู้ติดเชื้อ และมี 23 ชุมชนที่พร้อมจัดตั้งคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ภายใต้การดูแลของ รพ.ปิยะเวท

น.ส.นพพรรณ พรหมศรีŽ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวถึงสถานการณ์ภายในชุมชนที่มูลนิธิ ร่วมงานด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อ 83 ราย แต่ประสานงานด้วยวิธีการต่างๆ จนส่งเข้ารับการดูแลใน รพ.ได้เกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังมีตกค้างในชุมชน 2-3 ราย โดยมี 1 ราย กำลังเข้าสู่ระบบโฮม ไอโซเลชั่น ส่วนเรื่องคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ขณะนี้มี 23 ชุมชนที่พร้อม โดยได้อบรมแกนนำชุมชนแล้วว่าจะต้องดูแลอย่างไร สังเกตอาการอย่างไร ส่งข้อมูลให้ รพ.อย่างไร ซึ่งจุดสำคัญคือ ความเข้าใจของคนในชุมชนที่ทำให้เกิดร่วมมือดูแลผู้ติดเชื้อ ดังนั้น หากหน่วยงานรัฐยืนยันว่าผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวสามารถรักษาด้วยระบบนี้ได้ และมีมาตรฐานเหมือนการดูแลใน รพ. เชื่อว่าประชาชนจะรู้สึกมั่นใจ และผู้ติดเชื้อพร้อมจะเข้ารับการดูแลลักษณะนี้มากขึ้น

ด้าน น.ส.เพ็ญวดี แสงจันทร์Ž ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป ในชุมชนคลองเตย กล่าวว่า ในพื้นที่คลองเตยมีผู้ติดเชื้อในชุมชนจำนวนมาก เฉพาะชุมชน 70 ไร่ พบผู้ติดเชื้อวันละ 10-20 คน ขณะที่วัดสะพาน ซึ่งใช้เป็นศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อรอกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประสานรับตัวไป รพ. ปกติจะรอ 1-2 วัน จะได้เข้า รพ. แต่ขณะนี้ระยะเวลายืดเป็น 3-5 วัน เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น และมีผู้ติดเชื้อตกค้างในศูนย์พักคอยกว่า 198 ราย จึงมีการหารือกันว่าแทนที่จะให้รออยู่เฉยๆ 3-5 วัน เพื่อเข้าไปอยู่ใน รพ. อาจปรับศูนย์พักคอยมาเป็นคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ให้ชุมชนดูแลกันเองภายใต้การกำกับของ รพ.เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลเร็วขึ้น

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์Ž ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี กล่าวว่า ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนผู้ป่วยคือ 80-15-5 คือผู้ป่วยสีเขียว ร้อยละ 80 สีเหลือง ร้อยละ 15 สีแดง ร้อยละ 5 ซึ่งการทำโฮม ไอโซเลชั่น และคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว คือการจัดการกับอัตราการครองเตียงที่ไม่จำเป็นในสถานพยาบาลออกมา เพื่อให้มีเตียงเหลือรองรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง อย่างทันท่วงที

ต้องสื่อสารว่าการให้ไปดูแลที่บ้าน ไม่ใช่การยอมรับความล้มเหลว แต่ระหว่างนี้เตียงเต็ม แทนที่จะให้ผู้ติดเชื้อรอเตียงอยู่เฉยๆ ก็จัดระบบเข้ามาดูแลให้เกิดความปลอดภัย ไม่ให้ด้อยกว่าการดูแลใน รพ.สนาม และ รพ.โรงแรม หรือ ฮอสปิเทล (Hospitel) และคัดกรองผู้ป่วยสีเหลืองที่อาการปานกลางให้เข้าสู่ระบบ รพ.ได้โดยเร็วŽ พญ.นิตยากล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์Ž อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์เตรียมแนวทางโฮม ไอโซเลชั่น และคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น สำหรับคนไข้สีเขียวที่สามารถรักษาที่บ้านได้ ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนกระทั่งจำนวนผู้ป่วยรายวันแตะ 1,000 ราย/วัน ก็ให้ รพ.ราชวิถี ทดลองดำเนินการโดยมีผู้ที่เข้าระบบโฮม ไอโซเลชั่น จำนวน 18 คน ในจำนวนนี้มี 2 ราย ที่อาการแย่ลงจนต้องส่งตัวเข้า รพ. แต่ขณะนี้อาการดีขึ้นและกลับบ้านได้หมดแล้ว

“หลักเกณฑ์ที่กรมการแพทย์กำหนดไว้นั้น ผู้จะรักษาตัวที่บ้านต้องเป็นผู้ป่วยสีเขียว มีสถานที่เหมาะสม ปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์ได้ และเข้ารับการดูแลลักษณะนี้ด้วยสมัครใจ โดยแพทย์จะสื่อสารและติดตามอาการทางไกลกับผู้ป่วยทุกวัน รวมทั้งมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน โดยจะต้องลงทะเบียนในระบบของ รพ.มีการเอกซเรย์ปอดถ้าจำเป็น แจกปรอทวัดไข้และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดให้ และมีรถไปรับกรณีฉุกเฉิน”Ž นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า ความแตกต่างของคนไข้โฮม ไอโซเลชั่น และคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น คือ โฮม ไอโซเลชั่น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่รอแอดมิดใน รพ. แพทย์พิจารณาแล้วว่ารักษาที่บ้านได้ หรือรักษาที่ รพ.แล้วไม่น้อยกว่า 10 วัน ก็จำหน่ายกลับไปรักษาต่อเนื่องที่บ้าน เพื่อเพิ่มเตียงว่างใน รพ. ส่วนคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น คือ ผู้ป่วยยืนยันที่อยู่ในชุมชน ผู้ป่วยรายใหม่ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ไม่ต้องเพิ่มออกซิเจนในระหว่างรักษา และทำได้ทุกกลุ่มอายุ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนำร่องโฮม ไอโซเลชั่น ที่ รพ.ราชวิถีแล้ว ขณะนี้มอบหมายให้ รพ.ราชวิถี และ รพ.นพรัตนราชธานี ทดลองดำเนินการคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น รพ.ละ 1-2 ชุมชน รวม 4 วัน ทำโฮม ไอโซเลชั่น และคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ไปร้อยกว่าคน ในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนไข้ที่รักษาในโรงพยาบาลมาระยะหนึ่ง แล้วปล่อยกลับไปดูแลตัวเองที่บ้าน เพื่อเพิ่มเตียงว่างใน รพ.

อย่างไรก็ดี กรณีคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ยังมีประเด็นข้อกฎหมาย เพราะตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ กำหนดว่าเมื่อพบผู้ป่วยต้องนำเข้ารักษาใน รพ.ทั้งหมด แต่ในวันที่ 12 ก.ค.2564 จะมีประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งกรมการแพทย์จะเสนอขอความเห็นชอบ เรื่องคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณา เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว การดำเนินการทุกอย่างก็จะถูกกฎหมาย และทุก รพ.สามารถดำเนินการได้

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีŽ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วนของ สปสช.จะพยายามดูว่าแนวทางที่กรมการแพทย์ออกแบบไว้ ต้องสนับสนุนทางการเงินแบบใดถึงจะประสบความสำเร็จ กรณีโฮม ไอโซเลชั่น สปสช.แยกจ่ายได้ เช่น เอกซเรย์ ถ้า รพ.ไม่สะดวก สามารถใช้บริการของหน่วยเอกชนได้ ไม่จำเป็นต้องให้คนป่วยไปเอกซเรย์ที่ รพ. หรือกรณีคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ที่ 23 ชุมชน จะดูแลผู้ป่วยสีเขียวในชุมชนภายใต้การดูแลของ รพ.ปิยะเวท ก็ไม่ได้หมายความว่ารพ.ปิยะเวท ต้องให้แพทย์นั่งวิดีโอคอลทั้งหมด รพ.อาจจัดให้คลินิกอื่นไปทำหน้าที่ให้ก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ รพ. ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของหน่วยบริการที่จับคู่กับชุมชน แต่กลไกของ สปสช.จะยืดหยุ่นและตามจ่ายให้ได้หมด

ผู้ป่วยที่โทรเข้าสายด่วน 1330 ให้ประสานหาเตียงจะมี 2 แบบ คือ 1.ไปตรวจที่ รพ.แล้ว รพ.ไม่มีเตียงให้ ก็สามารถเข้าระบบโฮม ไอโซเลชั่น ภายใต้การดูแลของ รพ.ที่ตรวจได้เลย ถ้าทุก รพ.เข้าใจกติกา แต่ที่มีปัญหาคือ ไปตรวจที่แล็บต่างๆ แล้วไม่มี รพ.เป็นเจ้าภาพ ตรงนี้ต้องหา รพ.ให้ ซึ่งขณะนี้เริ่มนำร่องว่า เมื่อมีคนโทรเข้า 1330 ต้องสอบถามว่า ยินดีเข้ากระบวนการนี้ภายใต้การดูแลของ รพ.ปิยะเวท หรือไม่ หรือ 2.กรณีโทรไปประสานขอเตียง รพ.อื่นๆ เช่น รพ.ราชวิถี เจ้าหน้าที่อาจบอกว่ารับเป็นผู้ป่วยได้แต่ขอทำแบบโฮม ไอโซเลชั่น เพราะขณะนี้เตียงใน รพ.เต็ม แบบนี้ก็ได้เช่นกันŽ นพ.จเด็จกล่าว

ในเรื่องนี้ นายนิมิตร์ เทียนอุดมŽ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มดำเนินการคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น 23 ชุมชน และมีอีก 7 ชุมชน ที่แสดงความต้องการเข้าร่วมด้วย รวมทั้งขณะนี้ก็ยังเชิญชวนอีก 50 กว่าชุมชน ให้เข้าร่วมดูแลผู้ติดเชื้อด้วยระบบนี้ สำหรับคนที่ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอเตียง และไม่ได้อยู่ในชุมชน แล้วอยากทำโฮม ไอโซเลชั่น แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ให้โทรสายด่วน 1330 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะส่งต่อให้ทีมของไอเอชอาร์ไอคัดกรอง แล้วรับเข้าระบบของ รพ.ปิยะเวท รวมทั้งหาก รพ.อื่นๆ สนใจจะทำงานร่วมกับชุมชนก็สามารถติดต่อไปได้ เพราะองค์กรภาคประชาชนพร้อมจะเข้าไปประสานงานกับชุมชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง