กรมชลฯ วางแผนระบายน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา เริ่ม 1 พ.ย.นี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากจากทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกวัน แม้จะมีฝนตกลงมาอีกในหลายพื้นที่ แต่ไม่ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักตอนล่างทยอยลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้วหลายจุด เช้าของเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,277 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 2,299 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำที่ไหลผ่านบริเวณอ.บางไทร ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังน้ำท่าก่อนไหลลงสู่เขตกรุงเทพฯ และปริมาณมณฑล ลดลงเหลือ 2,890 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายประพิศ กล่าวอีกว่า ขณะที่ทางด้านของลุ่มน้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลดการระบายน้ำเหลือ 350 ลบ.ม./วินาที ทำให้พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนป่าสักฯ มีระดับน้ำลดลงจากเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ดังนี้ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ระดับน้ำลดลง 41 เซนติเมตร (ซม.) อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระดับน้ำลดลง 46 ซม. อ.เมืองสระบุรี ระดับน้ำลดลง 38 ซม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 3.16 เมตร) อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำลดลง 30 ซม. (ต่ำกว่าตลิ่ง 1.85 เมตร)
นายประพิศ กล่าวว่า ส่วนที่เขื่อนพระราม 6 ได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 283 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับปรับการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ตามศักยภาพของคลอง โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมคลอง เพื่อแบ่งเบาปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกรมฯ ได้ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งในพื้นที่ตอนล่าง เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด รวมไปถึงการใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เร่งระบายน้ำในช่วงที่น้ำทะเลลงด้วย
นายประพิศ กล่าวอีกว่า สำหรับการระบายน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา นั้น กรมฯ ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง วางแผนทยอยระบายน้ำออกจากทุ่ง โดยจะเริ่มจากทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ก่อนเป็นอันดับแรก ที่จะมีการระบายน้ำออกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างจะทยอยระบายออกตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ทั้งนี้ จะคงเหลือปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ในทุ่ง ให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป ส่วนน้ำที่ระบายออกจากทุ่งนั้น จะใช้ระบบชลประทานในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลัก ก่อนระบายออกสู่ทะเลตามลำดับ
นายประพิศ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กรมฯ ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนในระยะนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 30 ตุลาคม-1 พฤศจิกายนนี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตัวนออกพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะนี้ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ ซึ่งได้สั่งการให้โครงการชลประทานในภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักไว้แล้ว จึงขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1460 ได้ตลอดเวลา