รีเซต

พระมหากรุณาธิคุณ ปกเกล้าฯ ดั่งแสงสว่าง "ปวงประชา" "ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19" สร้างอาชีพ-รายได้พ้นวิกฤต

พระมหากรุณาธิคุณ ปกเกล้าฯ ดั่งแสงสว่าง "ปวงประชา" "ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19" สร้างอาชีพ-รายได้พ้นวิกฤต
มติชน
28 กรกฎาคม 2563 ( 17:22 )
155
พระมหากรุณาธิคุณ ปกเกล้าฯ ดั่งแสงสว่าง "ปวงประชา" "ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19" สร้างอาชีพ-รายได้พ้นวิกฤต

พระมหากรุณาธิคุณ ปกเกล้าฯ ดั่งแสงสว่าง “ปวงประชา” “ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19” สร้างอาชีพ-รายได้พ้นวิกฤต

 

สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เป็นวิกฤตที่ลุกลามไปทั่วโลกตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา เพื่อจะควบคุมการแพร่ระบาด หลายประเทศประกาศมาตรการ “ล็อกดาวน์” ให้ประชาชนเก็บตัวอยู่ในที่พักอาศัย ทำให้หลายคนต้องหยุดงาน ขาดรายได้ และร้ายแรงที่สุดคือ “ตกงาน”

 

ประเทศไทยก็เผชิญชะตากรรมเดียวกัน ประชาชนต่างพากันกลับถิ่นฐานบ้านเกิด ตั้งหลักชีวิตท่ามกลางสภาวะยากลำบาก

 

ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงมีพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร

 

จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นำที่ดินส่วนหนึ่งในโครงการฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จำนวน 30 ฟาร์ม จากจำนวน 61 ฟาร์มทั่วประเทศ ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งสร้างอาหารที่ปลอดภัย สร้างรายได้ และสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้กับราษฎร ผ่านการสนับสนุนจ้างงานราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ให้กลับมามีรายได้อีกครั้ง ควบคู่กับการได้เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทักษะอาชีพและการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ก่อนนำกลับไปพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง เพื่อสามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถอยู่อาศัยในบ้านเกิดได้อย่างภาคภูมิและมีความสุข

 

พระราชทาน “ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19″

การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และภาคีเครือข่าย ดำเนินงานภายใต้ “โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19”

ดำเนินงาน 3 ระยะ คือ

 

ระยะที่ 1 วางแผนออกแบบปรับปรุงพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรที่จ้างงานได้รับองค์ความรู้ การจัดการพื้นที่ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ อาทิ ปั้นโคก สร้างหนอง และทำนา, การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อสร้างอาหารให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ใช้เวลา 2 เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

 

            ขั้นตอนที่ 2 เสริมสร้างพืชผลและการเรียนรู้ที่จำเป็น อย่างการเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน ด้วยการแบ่งผลผลิตที่เหลือในฟาร์ม ให้คนในชุมชนที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วม เป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และทำให้เกิดความเชื่อมั่นของการให้ ดั่งพระราชกระแสรับสั่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความว่า “ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งดี” และเรียนรู้วิธีการเก็บรักษาและใช้ภูมิปัญญาในการแปรรูปอาหาร เพื่อเก็บไว้ใช้ตลอดทั้งปี เมื่อผลผลิตยังเหลืออยู่ ใช้เวลา 2 เดือน ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

 

และขั้นตอนที่ 3 เรียนรู้การขายผลผลิตที่เหลือจากการให้และแปรรูป ใช้เวลา 1 เดือน เดือนกันยายน

 

โดยปัจจุบันได้จ้างงานแล้วประมาณ 1,100 คน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 2 ฟาร์ม ภาคกลาง 3 ฟาร์ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 ฟาร์ม และภาคใต้จำนวน 15 ฟาร์ม ค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ทำงานวันจันทร์-เสาร์

 

ฟาร์มตัวอย่างฯสีบัวทอง จ.อ่างทอง

ใกล้เมืองหลวงที่สุด “โครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริบ้านยางกลาง” หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆ ว่า โครงการฟาร์มตัวอย่างฯสีบัวทอง อยู่ในตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เป็น 1 ใน 30 ฟาร์ม ที่วิถีชีวิตราษฎรดั้งเดิมเคยทำเกษตรกรมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นชาวนา วันเวลาเปลี่ยนรุ่นลูกหันเหจากต้นไม้ต้นข้าวไปทำอาชีพอื่น เช่น สาวโรงงาน รับจ้างทั่วไป ต่างบอบช้ำอย่างมากเมื่อวิกฤตเข้ามา

 

โดยโครงการฟาร์มตัวอย่างฯสีบัวทอง ได้แบ่งพื้นที่ 15 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 720 ไร่ มาใช้ดำเนินโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19

 

วรัตม์ มาประณีต นายอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เผยว่า ภาพรวมจังหวัดอ่างทองแม้ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่น้อย จากการเดินทางไม่สะดวก ราษฎรบางคนที่เคยทำงานได้ ก็ต้องหยุดไป เพราะโรงงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หยุด ซึ่งภายหลังจากที่พระองค์พระราชทานโครงการมา ผมก็ได้ให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันไปประกาศตามหมู่บ้าน ซึ่งมีราษฎรให้ความสนใจสมัครเข้ามาหลายร้อยคน ก่อนคัดเลือกด้วยการสัมภาษณ์เอาคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คือ คนว่างงานที่มีเวลาเข้ามาในโครงการ เช่น หนุ่มสาวโรงงานที่ตกงานจริงๆ พ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายไม่ได้และต้องกลับมาอยู่บ้าน เป็นกลุ่มแรกที่คัดเลือกเข้ามา รองลงมาเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ไม่สามารถค้าขายผลผลิตได้ จนได้ 50 คนตามเป้าหมาย

 

“พระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานโครงการฟาร์มตัวอย่างฯสีบัวทอง ในหลวง รัชกาลที่ 10 ที่พระราชทานโครงการนี้ ได้สร้างประโยชน์แก่คนในพื้นที่อย่างมาก และเป็นสิ่งที่อำเภอแสวงหา จะน้อมนำไปเป็นต้นแบบ แก้ปัญหาความยากจนใน 7 หมู่บ้านเป้าหมายตกเกณฑ์ จปฐ.(ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน) ด้วยการตั้งศูนย์เรียนรู้ของหมู่บ้านละ 1 แห่ง แห่งละ 1 ไร่ หรือมากกว่า ทำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ น้อมนำองค์ความรู้จากโครงการฟาร์มตัวอย่างฯสีบัวทอง มาสอนให้ประชาชนได้ทดลองทำ และได้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำได้จริง โดยทำในลักษณะจ้างงานเช่นเดียวกัน สักประมาณ 20 คนต่อ 1 หมู่บ้าน” วรัตม์กล่าวด้วยสีหน้าซาบซึ้ง

 

 

มหัศจรรย์เกษตรทฤษฎีใหม่

ขณะที่ บุญล้อม เต้าแก้ว หนึ่งในคณะทำงานของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และครูกสิกรรมธรรมชาติ โครงการฟาร์มตัวอย่าง ต้านภัยโควิด ซึ่งช่วยออกแบบการเรียนรู้ทั้งหมด เผยว่า ได้ออกแบบการเรียนรู้ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม โดยราษฎรในโครงการจะได้เรียนรู้ทฤษฎีต่างๆ ได้คิด และลงมือทำในฐานะเจ้าของแปลง ไม่ใช่ลูกจ้าง ด้วยตระหนักว่าเราคงไม่อาจจ้างพวกเขาไปได้ตลอดชีวิต จึงเสมือนจ้างมาเรียนมากกว่าทำงาน เพื่อให้นำความรู้นี้กลับไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตัวเอง

 

โครงการให้ชาวบ้านรวมกลุ่มทำงาน มี 5 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน ภายหลังเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เช่น ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง, โคก หนอง นา ก็ได้ให้สมาชิกหารือกันว่าอยากปลูกอะไร เลี้ยงอะไร และอยากออกแบบพื้นที่อย่างไร เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็เริ่มลงมือทำ

 

“สังเกตชาวบ้านที่เรียนมาเดือนกว่าๆ ดูพวกเขามีความสุขกับการทำงาน เพราะได้คิด ได้มีส่วนร่วม อย่างการปลูก ก็เริ่มต้นว่าเขาอยากกิน ก็ปลูกพืชนั้น เช่น อยากกินส้มตำ ก็ปลูกมะละกอ พริก มะเขือเทศ ถั่วลิสง ทำเป็นหลุมอาหารต่างๆ ที่อยากกิน โดยเราเพียงเสริมทฤษฎีว่าต้องปลูกอย่างไรให้ถูกต้องและไม่ใช้สารเคมี เช่น ไม่ควรปลูกพืชที่เหมือนกันและติดกันทั้งหมด แต่ควรปลูกพืชสลับชนิด เพื่อให้ศัตรูพืชงง การทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อลดใช้สารเคมี ซึ่งการเรียนรู้อย่างนี้ จะทำให้เขารู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไร ไม่ต้องมารอคอยคำสั่งว่าแต่ละวันจะให้ทำอะไร”

 

เปิดตารางเรียน เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเช้ากับการลงแปลง ช่วงเที่ยงพักรับประทานอาหารกลางวันพระราชทานในหลวง ร.10 ช่วงบ่ายเรียนทักษะอาชีพและกสิกรรมธรรมชาติ โดยมีหน่วยงานต่างๆ หมุนเวียนมาอบรมให้ความรู้ เช่น ทำปุ๋ยหมักทำน้ำยาล้างจาน ทำอาหาร ขนมต่างๆ ก่อนลงแปลงอีกครั้งในช่วงเย็น สรุปงานประจำวัน และพูดคุยสิ่งที่ต้องทำในวันพรุ่งนี้

 

ครูบุญล้อมเผยว่า เชื่อว่าชาวบ้านจะกลับมามีความสุขอีกครั้งกับที่ดินที่มี ว่าสามารถสร้างแหล่งอาหารได้ ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องขายให้ใคร เพื่อให้ตัวเองมีเงิน เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เห็นได้ชัดว่าเงินไม่ใช่คำตอบ จากภาพที่คนแห่กักตุนและแย่งอาหาร ซื้ออาหารราคาแพง ซึ่งจะไม่เดือดร้อนอะไรเลย หากที่บ้านมีแหล่งอาหารเป็นของตัวเอง ดั่งคำว่า “เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง” เช่นเดียวกับผมที่บ้านก็สร้างแหล่งอาหารเป็นของตัวเองเหมือนกัน จึงไม่เดือดร้อนจากการต้องกักตุนและแย่งอาหารในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเลย และส่วนตัวยังเชื่อว่า ไม่ว่าภัยหรือวิกฤตใดๆ เข้ามา ก็จะไม่เดือดร้อนอีกเช่นกัน

 

“ก็เป็นที่น่าดีใจว่าระยะ 2 ปีหลังมานี้ให้ความสนใจทำเกษตรทฤษฎีใหม่มากขึ้น อย่างผมที่เดินสายไปแนะนำไปสอนตลอดจนแทบไม่มีวันหยุด แต่ก็เป็นความสุขที่ได้เผยแพร่ศาสตร์พระราชา ขณะที่ชาวบ้านเองก็เห็นและรับรู้ว่าปรัชญาของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำแล้วได้ผลจริง และเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด และได้พระราชทานโครงการนี้มา เชื่อว่าจากนี้ผู้ที่ผ่านโครงการนี้ไป จะได้นำความรู้ออกไปเผยแพร่ นำผลผลิตออกไปแบ่งปัน คนก็จะสนใจมาดูงานฟาร์มตัวอย่างฯมากขึ้น น้อมนำไปประยุกต์ใช้กันแพร่หลายขึ้น อันจะนำไปสู่การมีแหล่งอาหารรอบบ้าน มีชีวิตอยู่ได้ไม่ว่าภัยอะไรมา” ครูบุญล้อมกล่าวด้วยน้ำเสียงมีพลัง

 

พระราชทานจ้างงาน ต่อลมหายใจ

ด้านราษฎรที่มาร่วมโครงการต่างยิ้มออก เพราะได้ค่าจ้างมาจุนเจือชีวิตและครอบครัว ขณะเดียวกันความรู้ที่ได้ก็ทำให้มองอนาคตได้ชัดเจนขึ้น เริ่มมีเป้าหมายในชีวิต

 

ประยูร โพธิ์ทองคำ อายุ 53 ปี สมาชิกหมู่ที่ 2 บ้านสีเย็น พื้นเพทำอาชีพรับจ้างทั่วไป และเป็นชาวนามาก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ภัยแล้ง ก่อนมาย้ำชัดความแย่ทวีคูณกับโควิด-19 เผยว่า โควิด-19 ระบาด ทำให้ดิฉันทำอะไรไม่ได้เลย ทั้งเกษตรกรรม ค้าขาย ทำให้ไม่มีรายได้ แต่เงินก็ยังต้องใช้ ต้องดูแลครอบครัว หลานก็ต้องเตรียมส่งเรียน ทั้งนี้ โครงการสอนให้ดิฉันรู้การทำเกษตรกรรมอย่างมาก ทั้งที่แต่ก่อนก็พอมีความรู้อยู่บ้าง แต่ไม่รู้กว้างและลึกอย่างนี้ อย่างที่รู้สึกมหัศจรรย์เลยคือ การได้ทดลองปลูกพืชด้วยปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ จากเดิมที่ใช้สารเคมีมาตลอด ซึ่งเห็นกับตาว่าปุ๋ยจากวัตถุดิบธรรมชาตินี้ เช่น ขี้ไก่ ขี้วัว เศษอาหาร ก็ทำให้ต้นข้าวรวมถึงพืชอื่นๆ เขียวโตได้เหมือนกัน ลงทุนต่ำกว่า และปลอดภัยกว่า ซึ่งอยากนำไปขยายผลต่อที่บ้าน ซึ่งมีพื้นที่ 3 ไร่

 

ประยูรรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง รัชกาลที่ 10 อย่างมาก ที่ได้ช่วยคนยากจนอย่างเธอ ที่สำคัญการได้ค่าจ้างได้มาต่อลมหายใจเธอในฐานะผู้นำครอบครัว ฉะนั้นจึงอยากให้มีโครงการนี้ต่อ แม้ค่าแรงจะน้อยลงก็อยากทำ เพราะอย่างน้อยก็มีผลผลิตการเกษตร จากน้ำพักน้ำแรง กลับไปกินที่บ้านทุกวัน

 

เช่นเดียวกับ สายหยุด ชื่นกลิ่น อายุ 51 ปี สมาชิกหมู่ที่ 1 บ้านรวมใจ อาชีพรับจ้างทั่วไปและเกษตรกร ที่ต้องออกมาดิ้นรนด้วยตัวเอง หลังจากลูกสาวที่มาทำงานแคชเชียร์ในกรุงเทพฯ ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ จึงต้องงดส่งเสียทางบ้านชั่วคราว เผยว่า หากพระองค์ไม่พระราชทานโครงการนี้มา ก็ไม่รู้ชีวิตจะเป็นอย่างไร เพราะมืดมนหมดหนทางจริงๆ เงินเยียวยาโควิดจากรัฐบาลก็ไม่ได้ เนื่องจากเป็นเกษตรกรที่เคยมีประกันสังคม อย่างไรก็ดี จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้กับพื้นที่ที่มี 3 ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคเอง

 

และ จำแรง ชื่นเอี่ยม อายุ 41 ปี สมาชิกหมู่ที่ 4 บ้านปันสุข ซึ่งนำลูกสาววัย 10 ขวบ มาเรียนรู้ด้วย เพราะไม่มีใครดูแลช่วงปิดภาคการศึกษา เผยว่า ดิฉันประกอบอาชีพรับจ้างรายวัน ทำทุกอย่าง จนโควิด-19 เข้ามา งานรับจ้างเริ่มไม่มี จึงดิ้นรนไปขายไส้กรอกลูกชิ้นปิ้ง ปรากฏว่าคนกักตัวอยู่บ้าน ขายไม่ได้ ลำบากมาก จนรู้ว่ามีโครงการ จึงรีบสมัครเข้ามา ทั้งนี้ ต้องบอกว่าโครงการนอกจากให้ความรู้ ให้งาน ก็ยังให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ด้วย ซึ่งหากจบโครงการนี้ไป ก็มีคนมาจองตัวให้ไปดูแลสวนแล้ว เพราะเห็นดิฉันมีความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่

 

“ดิฉันและครอบครัวรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง รัชกาลที่ 10 อย่างมาก ทรงให้แสงสว่างแก่ดิฉันอีกครั้ง เชื่อว่าการจ้างงานครั้งนี้ กับความรู้ที่ได้มา จะพลิกชีวิตดิฉันให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้แน่นอน” จำแรงกล่าวด้วยสีหน้าซาบซึ้ง

 

พระมหากรุณาธิคุณช่วยคนไทยฝ่าวิกฤตโรคระบาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง