รีเซต

TNN Exclusive : มีอยู่จริง “รอยเลื่อนซ่อนตัว” ต้นเหตุแผ่นดินไหวพิษณุโลกในรอบ 100 ปี

TNN Exclusive : มีอยู่จริง “รอยเลื่อนซ่อนตัว”  ต้นเหตุแผ่นดินไหวพิษณุโลกในรอบ 100 ปี
TNN ช่อง16
29 มิถุนายน 2566 ( 14:26 )
131
TNN Exclusive : มีอยู่จริง “รอยเลื่อนซ่อนตัว”  ต้นเหตุแผ่นดินไหวพิษณุโลกในรอบ 100 ปี

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกรณีเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5 ที่ระดับความลึก 5 กิโลเมตร บริเวณตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เมื่อเวลา 00.17 น. ของวันที่ 29 มิ.ย. 2566  โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และจังหวัดเลย สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ขณะที่ กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า สาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) ซึ่ง อยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง ที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี



ศ.ดร.สันติ มองเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหมือนการกวักมือเรียกของรอยเลื่อนที่จะบอกว่าฉันมีอยู่ ฉันอยู่ตรงนี้ ซึ่ง หากมาดูภูมิประเทศในรายละเอียด จะพบว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะมีแนวรอยเลื่อน ที่เราไม่เคยพูดถึงวางตัวอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ พาดผ่านลงมาจนถึงจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว 4.5 นี้ โดยหลักฐานที่นำมาประกอบในการกำหนดแนวรอยเลื่อนดังกล่าว คือ


1.แนวสันเนินเล็กๆ ที่วางตัวในแนวเดียวกัน


2.การวางตัวของลำน้ำที่เบ้มาทางขวาล่างตลอดทาง 


3. แม่น้ำน่าน ทางตอนใต้ของจังหวัดพิษณุโลก เกิดการหักงอเบ้ มาทางขวาล่าง ซึ่ง อยู่ในแนวเดียวกับแนวที่คาดว่าจะเป็นรอยเลื่อน


4.แผนที่น้ำท่วมซ้ำซากที่เคยทำไว้หากสังเกต ก็จะพบลักษณะการเหลื่อมกันเป็นแนว นั่นหมายความว่าน่าจะมีภูมิประเทศอะไรบางอย่างควบคุมอยู่



“ดังนั้น กล่าวโดยสรุปในเบื้องต้น จากการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5 ครั้งนี้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับแนวภูมิประเทศในรายละเอียด เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิด แปลความในทางธรณีวิทยาแผ่นดินไหว  เรากำลังพบว่ามี “รอยเลื่อนตัวใหม่” ที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ พาดผ่านอยู่ในละแวกจาก “เหนือเมืองสุโขทัย” ไป “ตอนใต้ของเมืองพิษณโลก” ซึ่ง ในเบื้องต้น ศ.ดร.สันติ ขอเรียกรอยเลื่อนที่พบใหม่นี้ ว่า รอยเลื่อน สุโขทัย-พิษณุโลก”


และจากข้อมูลกลไกการเกิดแผ่นดินไหว (focal mechanism) ที่มีการวิเคราะห์และรายงานไว้โดย กรมอุตุนิยมวิทยา บ่งชี้ว่าลอยเลื่อนนี้เป็นรอยเลื่อนที่มีการเลื่อนตัวแบบเหลื่อมข้าง (oblique faut) ที่ประกอบไปด้วย 1) การเลื่อนตัวแบบปกติ (normal faulting) และ 2) การเลื่อนตัวในแนวราบแบบขวาเข้า (dextral หรือ right-lateral fault)






ศ.ดร.สันติ ให้สัมภาษณ์รายการ TNN ข่าวค่ำ ถึงความเสี่ยงที่ไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่ง ล่าสุดเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 จาก “รอยเลื่อนสะกาย” ประเทศเมียนมา แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงกรุงเทพฯ ซึ่ง ศ.ดร.สันติ ระบุว่า สาเหตุที่กรุงเทพฯ และบางพื้นที่ทางภาคตะวันตกรับรู้แรงสั่นสะเทือน เนื่องจากรอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่พาดผ่านตั้งแต่ทางเหนือของเมียนมาลงมาถึงทะเลอันดามัน ทำให้ภาคตะวันตกของไทยรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ รวมทั้งภาคกลางตอนล่าง ซึ่ง มีชั้นดินอ่อน หากแรงสั่นสะเทือนเข้าสู่ชั้นดินอ่อนจะขยายสัญญาณสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพฯ ได้ ถือว่ารอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนที่มีศักยภาพมากกว่ารอยเลื่อนอื่นๆ ซึ่ง จากสถิติที่ผ่านมาเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 มาแล้ว แต่อัตราการเกิดขนาด 8.0 มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หรือ แทบไม่มี


สำหรับรอยเลื่อนที่มีพลังในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของไทย มีความเสี่ยงน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยมีเพียงรอยเลื่อนที่สำคัญและน่าจับตา คือ “รอยเลื่อนแม่จัน” จ.เชียงราย ที่ถือว่ามีอัตราการเคลื่อนตัวมากกว่ารอยเลื่อนอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่การเกิดแผ่นดินไหวในไทยยังไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งปลูกสร้าง หรือสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เป็นการส่งผลกระทบด้านความรู้สึกที่ทำให้คนรู้สึกได้จากแรงสั่นสะเทือนมากกว่า ซึ่ง หากติดตามการแจ้งเตือนหรือติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถเป็นการเตรียมพร้อมในการรับมือได้








ข่าวที่เกี่ยวข้อง