รีเซต

นักธรณีวิทยาฯชี้ฟอสซิลที่พบเป็นกระดูกส่วนน่องไดโนเสาร์ ยุคปลายไทรแอสซิก อายุราว 210 ล้านปี

นักธรณีวิทยาฯชี้ฟอสซิลที่พบเป็นกระดูกส่วนน่องไดโนเสาร์ ยุคปลายไทรแอสซิก อายุราว 210 ล้านปี
มติชน
11 เมษายน 2565 ( 16:33 )
64
นักธรณีวิทยาฯชี้ฟอสซิลที่พบเป็นกระดูกส่วนน่องไดโนเสาร์ ยุคปลายไทรแอสซิก อายุราว 210 ล้านปี

ข่าววันนี้ เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 11 เมษายน ที่อุทยานธรณีเพชรบูรณ์หนองนารี (Phetchabun Geopark) อ.เมืองเพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์พร้อมนายณรงค์ บ่วงรักษ์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.เพชรบูรณ์ เดินทางไปติดตามชมฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์(ไดโนเสาร์) ที่ถูกพบใหม่ที่บ้านห้วยหญ้าเครือ หมู่ 1 ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว โดยนายเล็ง สนทอง ผู้ค้นพบได้มอบให้ทางอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ไว้ เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยต่อไป โดยมีดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผอ.อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ และนายสุชิน อินทร์สา ผู้ทรงวุฒิอุทยานธรณีฯ พร้อมนส.กมลลักษณ์ วงษ์โก นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ สนง.ทรัพยากรธรณี เขต 1 ลำปางที่เดินทางมาร่วมตรวจสอบฟอสซิลชิ้นส่วนไดโนเสาร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงฟอสซิลดังกล่าวโดยคาดว่า เป็นกระดูกส่วนหน่องไดโนเสาร์

 

 

 

จากนั้นคณะนายกฤษณ์ได้ชมฟอสซิลจำลองกระดูกไดโนเสาร์ไทรโปรซอโรพอดและฟอสซิลชิ้นส่วนกระดูกแรดอายุราว 16 ล้านปี ที่อุทยานธรณีฯนำออกแสดง พร้อมจำลองหุ่นไดโนเสาร์โปรซอโรพอด และหุ่นจำลองอาร์โคซอร์บรรพบุรุษไดโนเสาร์ อายุ 240 ล้านปี ที่พบรอยตีนที่ผาในพื้นที่อ.น้ำหนาว พร้อมชมนิทรรศการมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยาของ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 22 แหล่ง รวมทั้งฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ อาทิ ฟอสซิลปลาน้ำจืด 15 ล้านปี และฟอสซิลท้องทะเลดึกดำบรรพ์ จำพวก ปะการัง หอยฝาเดียว หอยสองฝาหอยตะเกียง หอยงวงช้าง พลับพลึงทะเล ฯลฯ

 

 

ด้าน นส.กมลลักษณ์ วงษ์โก กล่าวว่า ตัวอย่างฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบใหม่นั้นประกอบด้วย 3 ชิ้นส่วนที่แตกหักจากกัน จากลักษณะของตัวอย่างแสดงลักษณะรูพรุนของเนื้อเยื่อของกระดูกสัตว์มีกระดูกสันหลัง เมื่อลองนำมาประกอบต่อกันพบว่าสามารถต่อเชื่อมกัน ลักษณะของกระดูกยาวเรียวเล็ก ปลายบนมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมโต ตอนกลางเรียว ส่วนปลายล่างเป็นลักษณะแง่งแหลม ซึ่งจากลักษณะดังกล่าวคล้ายกระดูกส่วนน่อง (Fibula) ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ซึ่งตัวอย่างดังกล่าวพบในชั้นหินตะกอนสีแดงแกมน้ำตาล เนื้อละเอียด และจากการนำข้อมูลพิกัดของจุดที่พบว่าพล็อตลงไปในแผนที่ธรณีวิทยาพบว่าอยู่ในชั้นหินหมวดหินน้ำพองของกลุ่มหินโคราชในยุคปลายไทรแอสซิก อายุราว 210 ล้านปี

 

 

“สำหรับแผนงานขั้นต่อไปคิดว่าหลังช่วงสงกรานต์แล้ว เตรียมจัดทีมงานลงพื้นที่จริงๆอีกครั้งว่า เพื่อสำรวจมีศักยภาพแค่ไหนว่าจะพบชิ้นส่วนอื่นๆเพิ่มเติมอีก แต่ทั้งนี้ก็คาดหวังเช่นเดียวกันว่าขอให้พบเจอเพิ่มเติมอีก เพราะจ.เพชรบูรณ์เคยเจอฟอสซิลชิ้นส่วนกระดูกส่วนสะโพกของโปรซอโรพอด เพราะจะพัฒนาให้พื้นที่บริเวณนั้นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระดับประเทศได้”นส.กมลลักษณ์กล่าวและว่า สำหรับพื้นที่อ.น้ำหนาวเป็น 1 ในพื้นที่จีโอไซต์ทางอุทยานธรณีซึ่งมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านธรณีสันฐานและลักษณะของซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งอายุของหินน้ำหนาวเราเจอตั้งแต่รอยตีนอาร์โคซออายุราว 240 ล้านปี เจอฟอสซิลโปรโรพอดอายุราว 210 ล้านปีหรือที่แก่กว่านั้นคือสัตว์ที่อยู่ในทะเล ซึ่งถือว่าอ.น้ำหนาวตอบโจทย์ความหลากหลายของธรณีวิทยา

 

ด้านนายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า หลังจากได้มาดูและเห็นฟอสซิลชิ้นส่วนไดโนเสาร์ของจริงๆพร้อมรับฟังข้อมูลจากนักธรณีวิทยายอมรับว่าน่าทึ่งและน่าสนใจมาก นอกจากนี้ยังได้ขอให้ทางตัวแทนกรมทรัพย์ฯช่วยค้นหาชิ้นส่วนอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งตัวแทนสนง.ทรัพยากรธรณี เขต 1 ลำปางก็รับปากว่าจะจัดทีมลงมาสำรวจ ซึ่งเราคาดหวังว่าหากพบชิ้นส่วนเพิ่มเติมเต็มตัว หรือในสภาพที่เกือบสมบูรณ์ ก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่และยังเป็นแหล่งความรู้ใหม่ของ จ.เพชรบูรณ์อีกด้วย

 

ข่าวแจ้งว่า สำหรับท่านที่สนใจจะเข้าชมหรือต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะโดยไม่เสียค่าใข้จ่าย ซึ่งสามารถเข้าชมตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00 น.-16.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.30 น.-15.00 น. และหากต้องการติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สนง.อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ หนองนารี อ.เมืองเพชรบูรณ์ โทรศัพท์หมายเลข 056-725558 หรือคุณสุรีย์พร คล้ายทรัพย์ โทร 094-4169945 หรือสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กอุทยานธรณีเพชรบูรณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง