รีเซต

สธ.รับคนไข้โควิดเพิ่มจริง! กรุงเทพฯ ครองเตียง 45.8% มั่นใจภาพรวมยังไหว

สธ.รับคนไข้โควิดเพิ่มจริง! กรุงเทพฯ ครองเตียง 45.8% มั่นใจภาพรวมยังไหว
มติชน
18 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:53 )
67
 

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงแนวทางการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่า ช่วงนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น ทำให้เกิดความกังวลว่า เตียงจะเพียงพอหรือไม่ จากการเปรียบเทียบสถานการณ์ทั่วประเทศ ในช่วง 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาในโรงพยาบาล (รพ.) เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยวันที่ 16 มกราคม อัตราครองเตียง 33,286 ราย ส่วนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เพิ่มเป็น 64,900 ราย

 

 

“ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบ ไม่เพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว ไม่เพิ่มตามจำนวนผู้รักษา เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ดูเหมือนลดลงเล็กน้อย แต่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มมากขึ้นพอสมควร แต่ยังไม่ถึงเท่าตัว คือ จาก 115 ราย เป็น 163 ราย ดังนั้น อัตราใส่ท่อหายใจอยู่ที่ ร้อยละ 0.1 อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตเฉลี่ยรายเดือน ช่วงเดือนมกราคม เฉลี่ย 18 ราย ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ย 23 ราย “นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า ส่วนข้อมูลผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้นจริง

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อนำข้อมูลเฉพาะสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี หรือ โรงพยาบาล (รพ.) เด็ก ตลอดเดือนมกราคม จำนวน 207 ราย มาเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 147 ราย โดยกลุ่มอายุน้อยกว่า 18 ปี มีจำนวนที่สูง เนื่องจากมีผู้ปกครองเข้ารักษาพร้อมเด็กด้วย ทั้งนี้ หากนับตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ยืนยันได้ว่าจำนวนเด็กติดเชื้อมากขึ้นจริง แต่ยังไม่ถึงเท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ซึ่งต้องยอมรับว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใน รพ.มากขึ้นจริงๆ

 

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลผู้ติดเชื้อรักษาที่บ้าน (Home Isolation) เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนให้ความร่วมมือดีมาก โดยเดือนกุมภาพันธ์ เข้าระบบ HI แล้ว 2,179 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 386 ราย

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกสังกัดในกรุงเทพฯ ประกอบด้วย ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) คลินิกชุมชนอบอุ่น และรพ.ขนาดเล็ก รพ.สังกัดกรมการแพทย์ รพ.สังกัด UHosNet, รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ กทม. และ สภากาชาด 11 แห่ง แบ่งเป็น 1.ระบบ HI อัตรากำลังบุคลากรแพทย์ รองรับรายใหม่ได้อย่างน้อยวันละ 5,540 ราย และสามารถเพิ่มเติมได้ 2.ระบบแยกกักในชุมชน (Community Isolation) มีประมาณ 3,500 เตียงใน 27 แห่ง อัตราครองเตียง 1,701 ราย ว่าง 1,780 ราย

 

“โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศว่าจะมีการเปิดเพิ่มเติมอีก 13 แห่ง รวม 1,000 เตียง ฉะนั้น เราจะมีเตียง CI ประมาณ 5,000 เตียง คิดเฉพาะ HI และ CI ในกรุงเทพฯ จะรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวใหม่ได้ ประมาณวันละ 10,000 ราย” นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า ระบบดังกล่าวในต่างจังหวัดก็มีความเข้มแข็งมากเช่นกัน เนื่องจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้เตรียมการร่วมกับท้องถิ่น เพื่อจัดตั้ง CI ในชุมชน ยืนยันได้ว่า มีความพร้อมทั้งประเทศ

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนจำนวนเตียงใน รพ.รวมกับ ฮอสปิเทล (Hospitel) แต่ไม่รวม HI/CI ในทั้ง 13 เขตสุขภาพ สะสม 174,029 เตียง อัตราครองเตียง 80,756 เตียง ว่าง 93,273 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 46.4 ฉะนั้น ยังมีเตียงว่างกว่าครึ่ง อย่างไรตาม สถานการณ์เตียงเฉพาะกรุงเทพฯ ทั้งหมด 55,369 เตียง ครองเตียง 25,359 เตียง ว่าง 30,010 เตียง อัตราครองเตียงร้อยละ 45.8

 

“ส่วนใหญ่ปริมาณเตียงจะอยู่ที่ รพ.เอกชน เพราะยังดำเนินการฮอสปิเทล แต่มีบางส่วนที่ตึง เช่น กรมควบคุมโรค ขยายเพิ่มเข้าไปอีกเป็น 162 เตียง แต่ที่อื่นยังมีเตียงว่างอยู่ แต่หลังจากวันที่ 1 มีนาคม 2565 หากมีการยกเลิกยูเซ็ป โควิด (UCEP Covid-19) เตียงในฮอสปิเทล ก็อาจจะหายไปบางส่วน แต่เราก็เตรียมรองรับไว้ จึงอยากเน้นย้ำว่า ให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อยใช้นโยบาย HI/CI First เพื่อให้เตียงใน รพ.เพียงพอ ทั้งนี้ เทียบจำนวนเตียงในช่วงพีคปีที่แล้ว วันที่ 10 กันยายน 2564 มีเตียงในกรุงเทพฯ รวม 70,000 เตียง แต่ขณะนี้เรายุบเหลือ 40,000 เตียง ต้องเรียนว่าช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยทั่วไป (Non Covid-19) เสียโอกาสในการรักษาอย่างมาก เช่น การผ่าตัดถูกเลื่อน เพราะต้องเอาเตียงมาให้ผู้ป่วยโควิด-19 แต่ขอให้มั่นใจว่า หากติดเชื้อมากขึ้น เราก็พร้อมขยายเตียงรองรับ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง