ซีพี-เมจิ คว้ารางวัล Thailand’s Best Managed Companies 2022
ดีลอยท์ มอบรางวัล Thailand’s Best Managed Companies ประจำปี 2565 แก่ 'ซีพี-เมจิ' ตอกย้ำความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวงการอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมสร้างคุณค่าชีวิตแก่ระบบนิเวศอย่างยั่งยืนบริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ตพาสเจอร์ไรส์ตรา 'เมจิ' รับรางวัล Thailand’s Best Managed Companies ประจำปี 2565 จาก ดีลอยท์ (Deloitte) ที่มอบให้แก่บริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จด้านการบริหารจัดการ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวงการอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ สะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ที่จะสร้างคุณค่าชีวิตแก่ระบบนิเวศอย่างทั่วถึงและยั่งยืนนางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ ซีพี-เมจิ กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัล Thailand’s Best Managed Companies อันทรงเกียรตินี้ ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี หัวใจหลักที่ ซีพี-เมจิ ยึดมั่น คือ ส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ดีที่สุด ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ การผลิต จนถึงมือผู้บริโภค พร้อมทั้งคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่างในอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญ ทำให้ ซีพี-เมจิ เป็นผู้นำธุรกิจนมพาสเจอส์ไรส์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งมีการพัฒนาความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับ รางวัล Best Managed Companies จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2536 ในประเทศแคนาดา โดย ดีลอยท์ องค์กรที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลก จะคัดเลือกและประเมินผลที่น่าเชื่อถือ เพื่อประเมินคุณภาพการจัดการของธุรกิจในด้านต่างๆ ทั้งด้านกลยุทธ์ ความสามารถและนวัตกรรม วัฒนธรรมองค์กรและพันธสัญญา รวมถึงการกำกับดูแลและการเงินขององค์กร ซึ่งในปี 2565 มีบริษัทชั้นนำจากหลากหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับรางวัลดังกล่าว จำนวน 13 บริษัทซีพี-เมจิ ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด "การเพิ่มคุณค่าชีวิต" โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ บริษัทฯ มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ด้านสังคม ดูแลและสนับสนุนทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งการศึกษาควบคู่กับโภชนาการของเยาวชนในพื้นที่ จ.สระบุรี และด้านสิ่งแวดล้อม จัดตั้งโครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)