รีเซต

'เอ็นไอเอ'​ จับมือพันธมิตร​ ลุยสเปซ-เอฟ ซีซั่น​ 2 ปั้นกรุงเทพ สู่แบงค์คอกฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์

'เอ็นไอเอ'​ จับมือพันธมิตร​ ลุยสเปซ-เอฟ ซีซั่น​ 2 ปั้นกรุงเทพ สู่แบงค์คอกฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์
มติชน
4 กรกฎาคม 2563 ( 09:08 )
92

 

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ เปิดเผยในงานแถลงข่าว​โครงการ​ยกระดับ​กรุงเทพมหานคร​จากฟู้ดพาราไดส์สู่แบงค์คอกฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์ของโลก ว่า นวัตกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหลังวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสทองของการพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์การดำเนินวิถีชีวิตรูปแบบใหม่

 

ซึ่งจากจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่ถูกขนานนามว่าเป็นครัวของโลก ทำให้เอ็นไอเอ เห็นโอกาสสร้างการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารให้มีศักยภาพทัดเทียมต่างประเทศ ทั้งนี้​ ยังอาศัยกลไกการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม และมีการเชื่อมโยงความร่วมมือกับผู้เล่นที่สำคัญในระบบนิเวศ เพื่อให้สตาร์ทอัพเข้าถึงปัจจัยที่จำเป็น ได้แก่ แหล่งเงินทุน ตลาด ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และบุคลากรที่มีศักยภาพ

 

“จึงร่วมกับพันธมิตรเริมโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย หรือสเปซ-เอฟ ขึ้น โดยปีนี้จัดเป็นรุ่นที่ 2 ซึ่งในครั้งนี้นอกจากจะมีพันธมิตรเดิมที่เข้มแข็งอย่างบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ยังได้ 3 พันธมิตรใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยบริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด เพื่อร่วมเป็นกำลังสำคัญในการสร้างให้เกิดการยอมรับในระดับสากลในด้านการพัฒนาและการลงทุนด้านนวัตกรรมอาหาร” นายพันธุ์อาจ กล่าว

 

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 2 ของโครงการสเปซ-เอฟ ที่ไทยยูเนี่ยนได้ร่วมกับภาครัฐตั้งขึ้น ซึ่งถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมอาหารต้องเผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างทำให้ทั่วโลกต้องปรับตัวเข้ากับนิวนอร์มอล ความปลอดภัยในการผลิตอาหารจึงจะสำคัญยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่และสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วต้องร่วมมือกัน

 

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการสเปซ-เอฟ เป็นโครงการที่เป็นศูนย์รวมให้องค์กรต่างๆ ได้เข้ามาแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และการสนับสนุนด้านการเงิน ซึ่งไทยเบฟยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เพื่อผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไทยเบฟได้ดำเนินธุรกิจโดยนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ มาปรับใช้เป็นแนวทางกำหนดเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้เป็นโอกาสให้ไทยเบฟได้ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะทำให้ไทยเบฟบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลโดยกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีแผนที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมนวัตกรรมผ่านเอ็นไอเอ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรม อีกทั้งสนับสนุนด้านวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมผลักดันโครงการ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ที่เน้นส่งเสริมสตาร์ตอัพด้านนวัตกรรมอาหารและการจัดการธุรกิจอาหาร

 

นพ.บรรจง กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของประเทศ ในการเป็นฟู้ดเทคซิลิคอนแวลเลย์ด้านเทคโนโลยีอาหารแห่งแรกของประเทศไทยที่มีเครือข่ายระดับโลกซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจจากฐานรากด้านเกษตรและอาหารที่มั่นคงของประเทศไทยแล้วยังสอดรับกับกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำความรู้เชิงวิชาการและงานวิจัยในองค์กรมาใช้

 

“มหาวิทยาลัยมหิดลยินดีสนับสนุนทั้งด้านวิชาการและการวิจัย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่พร้อมให้คำปรึกษา เพื่อให้ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่เข้าร่วมในโครงการ ซึ่งเชื่อว่า โครงการนี้จะช่วยนำไปสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก” นพ.บรรจง กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง