รีเซต

จับตา "ซุปโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย" อาจก่อให้เกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่

จับตา "ซุปโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย" อาจก่อให้เกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่
TNN ช่อง16
1 พฤศจิกายน 2565 ( 11:37 )
52

ซุปโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย (A soup of omicron subvariants) อาจก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวปลายปีนี้และต้นปีหน้า 2565 คาดว่าแต่ละภูมิภาคทั่วโลกจะมีการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกัน 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า ซุปโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย (A soup of omicron subvariants) อาจก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ (new wave) ในแต่ละภูมิภาคด้วยสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกัน

วลีเด่นช่วงนี้คือ 'ซุปโอมิครอน' เรียกขานโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโควิด-19 ทั่วโลกบ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของธรรมชาติของการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่เปลี่ยนไปในยุคของโอมิครอน

การดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 และจัดเก็บในฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” จากผู้ติดเชื้อทั่วโลกตลอด 3 ปี จำนวนกว่า 13.7 ล้านตัวอย่าง (ณ. วันที่ 1 พ.ย. 2565) ได้ถูกนำมาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงสร้างเป็นต้นไม้แห่งการวิวัฒนาการ (phylogenetic tree) เพื่อดูความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างตระกูลของโคโรนา 2019 (-2022) 

พบว่าในช่วง 2 ปีแรกตระกูลใหญ่ของโคโรนาไวรัสซึ่งมีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกันอย่างมากได้เกิดขึ้นและถูกแทนที่ด้วยตระกูลใหญ่ถัดไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตระกูลไวรัสอู่ฮั่น ได้ถูกแทนที่ด้วยตระกูล อัลฟา, เบตา, แกมมา, เดลตา และ โอไมครอน ตามลำดับ 

เนื่องจากส่วนหนามแหลมของแต่ละตระกูลมีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันอย่างมากทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราพัฒนาตามไม่ทัน เข้าไปจับทำลายไวรัสไม่ได้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อเจ็บป่วย รุนแรง และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของตระกูลเดลตา

แต่เมื่อการระบาดย่างเข้าสู่ช่วงปีที่ 3 ในยุคของตระกูลโอมิครอนกลับมีวิวัฒนาการเกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 300 สายพันธุ์ (omicron subvariants) โดยแต่ละสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” มากกว่า 100 ตำแหน่ง โดยเฉพาะส่วนหนามที่อยู่ในส่วนเปลือกนอกห่อหุ้มอนุภาคไวรัสไว้  

ส่วนหนามมีบทบาทสำคัญในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและจากภูมิคุ้มกันที่เราได้รับจากการติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติ รวมทั้งจับกับผิวเซลล์ของผู้ติดเชื้ออย่างจำเพาะ และเป็นที่น่าสนใจมากว่าส่วนหนามของโอมิครอนแต่ละสายพันธุ์ย่อยมีทั้งที่ซ้ำกับสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิมประหนึ่งเป็นการรีไซเคิล (recycle) นำตำแหน่งการกลายพันธุ์ดั้งเดิมที่ใช้ได้ผล (ในการหลบเลี่ยงภูมิ หรือจับกับเซลล์) กลับมาใช้ใหม่ผสมผสานกับการกลายพันธุ์ตำแหน่งใหม่ซึ่งจำเป็นใช้แข่งขันกันเองเพื่อการอยู่รอดในหมู่ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย 

สรุปได้ว่าการระบาดของโอมิครอนมีความหลากหลายในรูปแบบของการหมุนเวียนอยู่ในประชากรของโลก ซึ่งทำให้คาดเดาแนวโน้มการระบาดในอนาคตได้ยากขึ้น 

ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจึงได้เปรียบการระบาดของโควิดในช่วงปีที่ 3 เสมือน ซุปโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย (A soup of omicron subvariants) อันประกอบด้วยหลายหลายสายพันธุ์ย่อยเหมือนซุป เช่น BA.2.75, BA.2.75.2,BQ.1, BQ.1.1, BF.7,  XBB, XBB.1,XBB.2, XBB.3,XBB.4, และ XBB.5  มีแข่งขันกันแพร่ระบาดเพื่อความอยู่รอด และเนื่องจากแต่ละสายพันธุ์ย่อยมีการรีไซเคิลตำแหน่งการกลายพันธุ์ของโอมิครอนดั้งเดิม 

เช่นในตำแหน่ง “R346, L452, K444, F486, N460”  อันอาจเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเรารู้จักคุ้นตำแหน่งกลายพันธุ์เหล่านี้มาก่อนล่วงหน้า สังเกตได้ว่าการติดเชื้อเจ็บป่วยจากโอมิครอนสายพันธุ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น BA.1,BA.2,BA.4,BA.5 และล่าสุด BQ.1 และ XBB จึงมีอาการที่ไม่แตกต่างกัน คือไม่รุนแรงต้องรักษาตัวใน รพ. รวมทั้งมีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา

ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวปลายปีนี้และต้นปีหน้า 2565 คาดว่าแต่ละภูมิภาคทั่วโลกจะมีการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกัน เช่นในทวีปยุโรปและอเมริกามีการติดเชื้อโอมิครอน BQ.1 และ BQ.1.1 ในขณะที่ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะ อินเดีย บังกลาเทศ มาเลเซีย และสิงคโปร์ พบการระบาดของ XBB,XBB.1-XBB.5 ในขณะที่ทวีปออสเตรียพบการระบาดผสมผสานระหว่าง BQ.1* และ XBB*

สำหรับประเทศไทยยังคงพบโอมิครอนสาย BA.5* ถึงร้อยละ 97.83%

ส่วนสายพันธุ์ย่อย

BA.4.6    จำนวน 2 ราย

BQ.1.1    ไม่พบ

BQ.1      จำนวน 1 ราย

BF.7       จำนวน 2 ราย

BA.2.75    จำนวน 24 ราย

BA.2.75.2 จำนวน 6 ราย

XBB         ไม่พบ

ปล. ข้อมูลจาก GISAID วันที่ 1/11/2565 https://gisaid.org/

ช่วงหน้าหนาวในประเทศไทยซึ่งคาดกันว่าจะยาวนานจะมีส่วนทำให้อนุภาคไวรัสคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้นอันอาจส่งเสริมให้มีการระบาดระลอกใหม่หรือไม่และเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยใดนั้นยังตอบได้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศรวมทั้งศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี กำลังเฝ้าติดตามโดยการถอดรหัสพันธุกรรม (sequencing) ทั้งจีโนมหรือบางส่วน (genotyping) 

ซึ่งขณะนี้จำนวนการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมในประเทศไทยลดลงอย่างมากเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนา 2019 ในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่ส่งมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา รพ. รามาธิบดี ช่วงนี้ลดเหลือเพียง 4-12 ตัวอย่างต่อวัน และตรวจพบ PCR เป็นบวกเพียงวันรายเดียวเท่านั้น 



ข้อมูลจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์

ภาพจาก TNN ONLINE / รอยเตอร์


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง